เปรียบเทียบ Paclitaxel และ Carboplatin ทุกสัปดาห์และทุก 3 สัปดาห์ สำหรับมะเร็งรังไข่

เปรียบเทียบ Paclitaxel และ Carboplatin ทุกสัปดาห์และทุก 3 สัปดาห์ สำหรับมะเร็งรังไข่

N Engl J Med 2016;374:738-748.

            บทความเรื่อง Weekly vs. Every-3-Week Paclitaxel and Carboplatin for Ovarian Cancer รายงานว่า การรักษาด้วย Paclitaxel แบบ dose dense ทุกสัปดาห์ (มีจำนวนครั้งของการให้ยาบ่อยกว่า) ร่วมกับ Carboplatin ทุก 3 สัปดาห์ หรือให้ Bevacizumab ร่วมกับPaclitaxel และ Carboplatin ทุก 3 สัปดาห์มีประสิทธิผลที่ดีในมะเร็งรังไข่ การศึกษานี้จึงประเมินผลของการรักษาด้วย Paclitaxel ร่วมกับ Carboplatin แบบ dose dense ทุกสัปดาห์ต่อการยืดระยะการอยู่รอดโดยโรคสงบ เทียบกับการรักษาด้วย Paclitaxel ร่วมกับ Carboplatin ทุก 3 สัปดาห์ในผู้ป่วยที่ได้รับ Bevacizumab และไม่ได้รับ Bevacizumab

            การศึกษาได้จำแนกผู้ป่วยตามความสมัครใจรับ Bevacizumab จากนั้นจึงสุ่มให้ได้รับ Paclitaxel ทางหลอดเลือดขนาด 175 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรพื้นที่ผิวกายทุก 3 สัปดาห์ ร่วมกับ Carboplatin (ขนาดเทียบเท่าค่าพื้นที่ใต้เส้นโค้ง [AUC] เท่ากับ 6) รวม 6 ไซเคิล หรือได้รับ Paclitaxel สัปดาห์ละครั้งที่ขนาด 80 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรพื้นที่ผิวกาย ร่วมกับ Carboplatin  (AUC เท่ากับ 6) รวม 6 ไซเคิล โดยให้การอยู่รอดโดยโรคสงบเป็นจุดยุติปฐมภูมิ 

            มีผู้ป่วยรวมอยู่ในการศึกษา 692 ราย ซึ่ง 84% เลือกรับ Bevacizumab ในการวิเคราะห์แบบ intention-to-treat analysis พบว่า การรักษาด้วย Paclitaxel สัปดาห์ละครั้งไม่สัมพันธ์กับการอยู่รอดโดยโรคสงบที่นานขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย Paclitaxel ทุก 3 สัปดาห์ (14.7 เดือน และ 14.0 เดือน ตามลำดับ ค่า hazard ratio สำหรับการลุกลามของโรคหรือการเสียชีวิตเท่ากับ 0.89 ค่า 95% CI เท่ากับ 0.74-1.06; p = 0.18) ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ Bevacizumab พบว่า การรักษาด้วย Paclitaxel สัปดาห์ละครั้งสัมพันธ์กับการอยู่รอดโดยโรคสงบที่นานกว่า 3.9 เดือน เทียบกับระยะที่ได้จากการรักษาด้วย Paclitaxel ทุก 3 สัปดาห์ (14.2 เดือน เทียบกับ 10.3 เดือน ค่า hazard ratio เท่ากับ 0.62   ค่า 95% CI เท่ากับ 0.40-0.95; p = 0.03) แต่อีกด้านหนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับ Bevacizumab พบว่าการรักษาด้วย Paclitaxel สัปดาห์ละครั้งไม่ได้ยืดการอยู่รอดโดยโรคสงบได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย Paclitaxel ทุก 3 สัปดาห์ (14.9 เดือน และ 14.7 เดือน ตามลำดับ ค่า hazard ratio เท่ากับ 0.99 ค่า 95% CI เท่ากับ 0.83-1.20; p = 0.60) จากการทดสอบปฏิกิริยาซึ่งประเมินความเป็นเอกภาพของผลการรักษาพบความต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างการได้รับ Bevacizumab และไม่ได้รับ Bevacizumab (p = 0.047) โดยผู้ป่วยที่ได้รับ Paclitaxel สัปดาห์ละครั้งมีอัตราการเกิดภาวะโลหิตจางระดับ grade 3 หรือ 4 สูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Paclitaxel ทุก 3 สัปดาห์ (36% เทียบกับ 16%) เช่นเดียวกับอัตราที่สูงกว่าของประสาทรับความรู้สึกเสื่อม (sensory neuropathy) ระดับ grade 2 ถึง 4 (26% เทียบกับ 18%) อย่างไรก็ดี พบด้วยว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราที่ต่ำกว่าของภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำระดับ grade 3 หรือ 4 (72% เทียบกับ 83%)

            โดยรวมพบว่าการรักษาด้วย Paclitaxel สัปดาห์ละครั้งไม่มีผลต่อการยืดระยะการอยู่รอดโดยโรคสงบในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เมื่อเทียบกับการรักษาด้วย Paclitaxel ทุก 3 สัปดาห์