ผลการเสริมเทสโทสเตอโรนในชายสูงอายุ
N Engl J Med 2016;374:611-624.
บทความเรื่อง Effects of Testosterone Treatment in Older Men รายงานว่า ระดับเทสโทสเตอโรนในซีรัมของผู้ชายจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น และปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนถึงประโยชน์ของการเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรนในชายสูงอายุ
การศึกษาได้รวบรวมอาสาสมัครจากการศึกษา Sexual Function Trial, Physical Function Trial หรือ Vitality Trial จำนวน 790 ราย อาสาสมัครเป็นชายอายุ 65 ปี หรือมากกว่า มีระดับเทสโทสเตอโรนในซีรัมต่ำกว่า 275 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร และมีอาการของกลุ่มภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ อาสาสมัครได้รับการรักษาด้วยเจลเทสโทสเตอโรนหรือเจลยาหลอกเป็นระยะเวลา 1 ปี และได้ประเมินผลลัพธ์หลักของแต่ละการศึกษาในอาสาสมัครทุกราย
การรักษาด้วยเทสโทสเตอโรนส่งผลให้ระดับเทสโทสเตอโรนในซีรัมขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับชายในช่วงอายุระหว่าง 19-40 ปี การเพิ่มขึ้นของระดับเทสโทสเตอโรนสัมพันธ์กับกิจกรรมทางเพศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญประเมินตามแบบสอบถาม Psychosexual Daily Questionnaire (p < 0.001) เช่นเดียวกับความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราร้อยละของผู้ชายที่มีระยะเดิน 6 นาทีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50 เมตรไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้ง 2 กลุ่มในการศึกษา Physical Function Trial แต่พบว่าผลลัพธ์ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อรวมอาสาสมัครจากทั้ง 3 การศึกษา (20.5% ในผู้ที่ได้รับเทสโทสเตอโรนเทียบกับ 12.6% ในผู้ที่ได้รับยาหลอก; p = 0.003) จากการศึกษาพบว่า เทสโทสเตอโรนไม่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญในแง่พละกำลังประเมินจากดัชนี Functional Assessment of Chronic Illness Therapy-Fatigue แต่พบว่าผู้ที่ได้รับเทสโทสเตอโรนรายงานว่ามีภาวะอารมณ์ดีกว่าเล็กน้อย และมีความรุนแรงของอาการซึมเศร้าต่ำกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก อนึ่ง อัตราของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์พบใกล้เคียงกันในทั้ง 2 กลุ่ม
ข้อมูลจากการศึกษาในชายอายุ 65 ปี หรือมากกว่า ซึ่งมีอาการของกลุ่มภาวะฮอร์โมนเพศต่ำพบว่า การเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรนตลอดระยะเวลา 1 ปีจากระดับค่อนข้างต่ำให้ขึ้นมาที่ระดับเดียวกับชายในช่วงอายุ 19-40 ปี มีประโยชน์ในแง่สมรรถภาพทางเพศ และช่วยได้บ้างในแง่อารมณ์และอาการซึมเศร้า แต่ไม่มีประโยชน์ในด้านพละกำลังหรือระยะการเดิน อนึ่ง การศึกษานี้ไม่อาจสรุปความเสี่ยงของการเสริมเทสโทสเตอโรนเนื่องจากจำนวนอาสาสมัครที่น้อยเกินไป