เปรียบเทียบผลลัพธ์ยาลดความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวาน

เปรียบเทียบผลลัพธ์ยาลดความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวาน

BMJ 2016;352:i717.

            บทความเรื่อง Effect of Antihypertensive Treatment at Different Blood Pressure Levels in Patients with Diabetes Mellitus: Systematic Review and Meta-Analyses รายงานข้อมูลจากการศึกษาผลลัพธ์ของยาลดความดันโลหิตต่ออัตราตายและการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีระดับความดันโลหิตแตกต่างกัน

            การศึกษาวิจัยมีรูปแบบเป็นการทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานจากการศึกษาเปรียบเทียบ โดยรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล CENTRAL, Medline, Embase และ BIOSIS  รวมถึงติดต่อผู้นิพนธ์ บริษัทยา และเจ้าหน้าที่ในกรณีที่พบปัญหาขาดข้อมูลแต่ตัวการศึกษามีแนวโน้มที่จะสอดคล้องกับเกณฑ์การวิจัย การศึกษาที่รวบรวมไว้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบจากผู้ป่วยจำนวน 100 ราย หรือมากกว่า ซึ่งได้รับการรักษามาแล้ว 12 เดือน หรือนานกว่า และเปรียบเทียบระหว่างยาลดความดันโลหิตกับยาหลอก ยาลดความดันโลหิต 2 ตัวเทียบกับ 1 ตัว หรือการกำหนดเป้าลดความดันโลหิตที่ต่างกัน

            การวิเคราะห์อภิมานได้รวมการศึกษา 49 โครงการ และมีจำนวนอาสาสมัคร 73,738 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากการศึกษาพบว่า หากความดันซิสโตลิกที่เริ่มต้นสูงกว่า 150 มิลลิเมตรปรอท ยาลดความดันโลหิตลดความเสี่ยงต่อการตายทุกสาเหตุ (relative risk เท่ากับ 0.89   ค่า 95% CI เท่ากับ 0.80-0.99), การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (0.75 และ 0.57-0.99), กล้ามเนื้อหัวใจตาย (0.74 และ 0.63-0.87), สโตรค (0.77 และ 0.65-0.91) และไตวายระยะสุดท้าย (0.82 และ 0.71-0.94) หากความดันซิสโตลิกอยู่ระหว่าง 140-150 มิลลิเมตรปรอท พบว่าการเพิ่มยาลดความเสี่ยงต่อการตายทุกสาเหตุ (0.87 และ 0.78-0.98), กล้ามเนื้อหัวใจตาย (0.84 และ 0.76-0.93) และหัวใจล้มเหลว (0.80 และ 0.66-0.97) อย่างไรก็ดี พบว่าหากความดันซิสโตลิกเริ่มต้นต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท การเพิ่มยาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด  (1.15 และ 1.00-1.32) และมีแนวโน้มต่อความเสี่ยงสูงขึ้นสำหรับการตายทุกสาเหตุ (1.05 และ 0.95-1.16) จากการวิเคราะห์การถดถอย (meta-regression analysis) พบผลลัพธ์ของการรักษาที่ต่ำกว่าจากระดับความดันซิสโตลิกเริ่มต้นที่ต่ำกว่าสำหรับการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (1.15 และ 1.03-1.29 สำหรับความดันซิสโตลิกที่ต่ำกว่าทุก 10 มิลลิเมตรปรอท) และกล้ามเนื้อหัวใจตาย  (1.12 และ 1.03-1.22  สำหรับความดันซิสโตลิกที่ต่ำกว่าทุก 10 มิลลิเมตรปรอท)    

            ยาลดความดันโลหิตลดความเสี่ยงการตายและการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีความดันซิสโตลิกสูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท อย่างไรก็ดี การเพิ่มยาสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไม่พบประโยชน์ที่เห็นได้ชัดกรณีผู้ป่วยมีความดันซิสโตลิกต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท