ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
การแพทย์ได้มีวิวัฒนาการไปมากในช่วง 51 ปีหลังจากที่ผมจบแพทย์ ขณะนี้มีการตรวจเพิ่มเติมในการวินิจฉัยโรคมาก ตั้งแต่การตรวจเลือด เอกซเรย์ต่าง ๆ จากการถ่ายภาพธรรมดาไปจนถึง Ultrasound, CT scan, MRI, Cardiac MRI, PET scan ฯลฯ การส่องกล้องชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน (upper GI endoscopy) หรือส่วนล่าง (colonoscopy) หรือการดูลำไส้เล็กด้วยการใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น double balloon หรือ single balloon, capsule endoscopy การทำ EUS ฯลฯ และการรักษาทางด้านการผ่าตัดโดยใช้การผ่าตัดผ่านกล้องทำให้ผู้ป่วยฟื้นจากการผ่าตัดเร็ว แผลเล็กจนแทบมองไม่เห็น ฯลฯ
จึงเป็นที่มาที่ไปของการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ หัวใจที่ทำบ่อย ๆ แต่ยังรวมไปถึงปอด ตับอ่อน ไขกระดูก ฯลฯ การปลูกถ่ายอวัยวะสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ ไต ตับ หรือมะเร็งของโรคเลือดที่สิ้นหวังแล้วกลับมามีชีวิตกลับคืนมาได้อย่างปกติ
สภากาชาดไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ เป็นสำนักงาน 1 ใน 14 สำนักงานสังกัดสภากาชาดไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และได้เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2537 ทั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย พระราชทานพระราชานุญาตให้วันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน เป็นวันศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยอีกด้วย นับเป็นสิริมงคลแก่ผู้บริจาคอวัยวะและทายาท ตลอดจนผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่มีผู้บริจาคอวัยวะมากที่สุดคือ 206 ราย ได้รับอวัยวะและเนื้อเยื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากถึง 856 ราย เป็นอวัยวะ 463 ราย (ผู้บริจาค 1 คนอาจบริจาคได้หลายอวัยวะ) และเนื้อเยื่อ 393 ชิ้น ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการรับบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในปีนี้ได้กำหนดให้การรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะเป็นสาขาหนึ่งของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan)
ตลอดระยะเวลา 22 ปี ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย สามารถนำอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ได้รับบริจาคไปใช้ประโยชน์ช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งสิ้น 8,257 อวัยวะ เป็นการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน รวม 4,337 ราย และเนื้อเยื่อ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ ดวงตา กระดูก หลอดเลือด ผิวหนัง และเซลล์ของตับอ่อน รวม 3,920 ชิ้น ส่วนทางด้านการรับแสดงความจำนงบริจาคในปี พ.ศ. 2558 มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ รวม 795,640 ราย รวมตลอด 22 ปี มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะทั้งสิ้น 795,810 ราย
แต่จะเห็นได้ว่าการได้รับอวัยวะจริง ๆ ยังน้อยมาก (เพราะผู้แสดงความจำนงยังมีชีวิตอยู่) เช่น ในการผ่าตัดเปลี่ยนตับทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2558 ยังมีการผ่าตัดเปลี่ยนตับเพียง 70 กว่ารายเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีผู้รอตับเป็นพัน ๆ ราย ปัญหาอยู่ที่ประชาชนชาวไทยยังไม่ค่อยทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะนั้นประสบความสำเร็จในบ้านเราเป็นอย่างดียิ่ง ผู้ที่ได้รับบริจาคจะมีชีวิตที่มีคุณภาพเหมือนคนปกติ คล้าย ๆ “คนตายแล้วเกิดใหม่” คนไทยยังกลัวญาติของตนเองที่ “สมองตาย” หรือ “brain dead” ยังไม่ตายจริง ในวงการแพทย์เป็นที่ทราบและยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าถ้าสมองตายก็คือ ตายแล้วนั่นเอง ผู้ป่วยจะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ เพียงแต่ขณะนี้ร่างกายคือ หัวใจ ปอด ยังทำงานได้ตามอัตโนมัติอีกระยะหนึ่ง แต่สมองตายแล้ว ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ และอีกส่วนหนึ่งคือ คนไทยบางคนยังนึกว่าถ้าเอาอวัยวะไปบริจาค การเกิดชาติหน้าจะไม่มีอวัยวะนั้น ๆ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทางพระภิกษุสงฆ์หลาย ๆ ท่านก็ออกมากล่าวแล้วว่าไม่เป็นความจริง
ฉะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องบ่อย ๆ เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของการบริจาคอวัยวะ เป็นการช่วยให้คนคนหนึ่งที่ใกล้จะตายกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ปกติ ทำงานเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ผู้ที่เห็นว่าที่ผู้บริจาคอย่างไรก็จะต้องเสียชีวิตในไม่ช้าก็เร็ว เพราะถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าสมองตายแล้วก็ได้แต่นอนรอวันที่หัวใจ ปอด จะหยุดทำงานเท่านั้นเอง รวมทั้งผู้บริจาคและญาติพี่น้องจะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่อีกด้วย
จึงขอเชิญชวนทุก ๆ ท่านมาแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะ รวมทั้งญาติของผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่า “สมองตาย” แล้ว โปรดพิจารณาบริจาคอวัยวะด้วยครับ