AEC กับโรคผิวหนังไร้พรมแดน
รวมพลแพทย์ผิวหนัง ตอบโจทย์เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อจากการย้ายถิ่นฐานของประชากรต่างด้าวที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาของโรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เคยพบและหายไปจากประเทศไทย เช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ โรคเท้าช้าง โรคลิชมาเนีย อาจจะพบได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) ในปัจจุบัน ทำให้พฤติกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานในการเข้าทำงาน การท่องเที่ยวหรือการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย หรือประกอบกิจธุระอื่น ๆ ของชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาของโรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เคยพบและหายไปจากประเทศไทย เช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ โรคเท้าช้าง โรคลิชมาเนีย อาจจะพบได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นพ.กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับโรคเรื้อนนั้น ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถกำจัดโรคเรื้อนจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ อัตราความชุกโรคเรื้อนต่ำกว่า 1 ต่อ 10,000 ประชากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบันอยู่ใน “ระยะหลังกำจัดโรคเรื้อน” จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2549-2558 จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงคือ 615, 506, 401, 358, 405, 280, 220, 188, 208 และ 187 ราย โดยในปี พ.ศ. 2558 จังหวัดที่พบจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สูงสุด 5 ลำดับแรกคือ นราธิวาส 25 ราย, ศรีสะเกษ 14 ราย, ปัตตานี 13 ราย, ชัยภูมิ 10 ราย, บุรีรัมย์ และยะลา จังหวัดละ 9 ราย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรไทยยังคงพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี พ.ศ. 2554-2558 จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรต่างด้าวที่ตรวจพบในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือ 28, 22, 22, 47 และ 39 ราย โดยพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สัญชาติเมียนมาร์มากที่สุดคือ 149 ราย, กัมพูชา 3 ราย, ลาว 3 ราย, จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย สัญชาติละ 1 ราย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2556 ที่รายงานการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อประเทศไทยมากที่สุดคือ เมียนมาร์ 2,950 ราย, กัมพูชา 373 ราย, มาเลเซีย 306 ราย, ลาว 84 ราย และไทย 188 ราย และปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาประเทศไทยค้นพบจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนในประชากรต่างด้าวในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 27 ราย (ร้อยละ 69.2 ได้แก่ เชียงใหม่ 17 ราย, ตาก 5 ราย และแม่ฮ่องสอน 5 ราย) ภาคกลาง 8 ราย (ร้อยละ 20.5 ได้แก่ สมุทรปราการ 3 ราย, กรุงเทพฯ 2 ราย, กาญจนบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร จังหวัดละ 1 ราย) ภาคใต้ 4 ราย (ร้อยละ 0.3 ได้แก่ สงขลา 4 ราย)
นพ.กฤษฎา กล่าวต่อว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้มีประชากรต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีผู้ป่วยโรคเรื้อนเดินทางเข้ามาด้วย จึงอาจทำให้โรคเรื้อนกลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทยได้อีก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
• ด้านบุคคล (Host) ประชากรไทยมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดประชากรต่างด้าวที่เป็นโรคเรื้อน
• ด้านเชื้อโรค (Agent) การเพิ่มขึ้นของประชากรต่างด้าวเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะมีแหล่งรังโรคเรื้อน
• ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่พักอาศัยของประชากรต่างด้าวที่เป็นชุมชนแออัดทำให้มีโอกาสเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคเรื้อน
ประกอบกับแรงงานต่างด้าวบางส่วนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข จึงไม่ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อการตรวจคัดกรองโรคเรื้อน เมื่อป่วยเป็นโรคเรื้อนทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษา และสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ลดน้อยลงทำให้แพทย์และพยาบาลบางส่วนขาดทักษะในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเรื้อน ซึ่งในการตรวจจะต้องใช้อาการทางคลินิกเป็นหลักสำคัญ โดยในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่ง่าย สะดวก และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรคเรื้อน ดังนั้น หากประชากรต่างด้าวที่เป็นโรคเรื้อนเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย และไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง จึงมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อโรคเรื้อนมาสู่คนไทย
ในส่วนของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พญ.รัตติยา เตชะขจรเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และระบาดวิทยา โรงพยาบาลบางรัก กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั่วโลก อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่ามีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รายใหม่ปีละ 357 ล้านคน เป็นผู้ป่วยหนองในเทียมจากเชื้อ Chlamydia trachomatis 131 ล้านคน หนองใน 78 ล้านคน ซิฟิลิส 5.6 ล้านคน และพยาธิช่องคลอด 143 ล้านคน โดยสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทย ตามข้อมูลระบาดวิทยาและข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงานที่ให้บริการคัดกรองและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ได้เก็บข้อมูลของโรงพยาบาลรัฐและสำนักงานป้องกันและควบคุมโรค กลุ่มโรคทางเพศสัมพันธ์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2553-2558 พบว่า อัตราการติดเชื้อนั้นเพิ่มสูงขึ้นจาก 20.43 ต่อประชากร 100,000 คน เป็น 23.23 ต่อประชากร 100,000 คน จำแนกตามโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลักคือ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ที่ไม่จัดอยู่ในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลัก เช่น พยาธิช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เริม หูดหงอนไก่ เป็นต้น เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติพบว่า อัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ย้อนหลังช่วงปี พ.ศ. 2554-2557 มีแนวโน้มสูงขึ้น และพบในสัญชาติเมียนมาร์ กัมพูชา และลาวตามลำดับ โดยโรคที่พบบ่อย 3 อันดับแรกคือ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน และโรคหนองในเทียม
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากการคาดประมาณปี พ.ศ. 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนสะสม 1,526,028 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,759 คน จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น อัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยรวมยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์ของโรคแผลริมอ่อนและโรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองน่าจะมีแนวโน้มลดลงและอาจจะหายไปได้ โดยกลุ่มประชากรที่พบมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า
โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเพศชายมักมีอาการปัสสาวะขัด หรือมีหนองหรือมูกใสไหลออกจากท่อปัสสาวะ เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่มแผล ฝี บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบบวมหรือเป็นฝี ส่วนในเพศหญิงอาจมีตกขาวสีผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คันบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บหรือปวดท้องน้อย มีผื่น ตุ่มแผล ฝี บริเวณอวัยวะเพศเช่นเดียวกับเพศชาย สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจมีอาการคันรอบรูทวาร ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักหรือมีหนองไหลออกจากทวารหนักได้ นอกจากนี้อาจพบผื่นตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก ผมร่วงได้ในผู้ป่วยซิฟิลิส
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อทางยุทธศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ. 2559-2564 ซึ่งมีเป้าหมายป้องกันโรคเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และท้องไม่พร้อม โดยดำเนินการแจกถุงยางอนามัยและให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ณ จุดบริการสถานพยาบาล และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค
ด้าน ผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับโรคอื่น ๆ ที่จะมาเยือนว่า โรคลิชมาเนียเป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นโรคติดต่อเรื้อรังของคนและสัตว์ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว โดยมีริ้นฝอยทราย (sandfly) เป็นพาหะนำโรค ริ้นฝอยทรายเพศเมียกัดกินเลือดสัตว์ที่มีเชื้อแล้วปล่อยเชื้อเข้าสู่คน มีแหล่งแพร่โรคมากกว่า 88 ประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ การแสดงอาการของโรคจะใช้เวลาเป็นเดือน แบ่งได้ 3 แบบ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อลิชมาเนียและภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ประกอบด้วย 1. โรคที่มีอาการเฉพาะผิวหนัง (Cutaneous Leishmaniasis) พบตุ่มเล็ก ๆ บริเวณผิวหนังที่ถูกแมลงกัด แล้วแตกออกเป็นแผล 2. โรคที่มีอาการที่อวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ซีด ม้ามและตับโต และ 3. โรคที่เกิดขึ้นกับเยื่อเมือก (Mucocutaneous Leishmaniasis) ลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง แต่แผลจะแพร่ไปในเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก เป็นต้น
สรุปสถิติโรคลิชมาเนียในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503-2558 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 66 ราย โดยปี พ.ศ. 2503-2535 มักพบในคนไทยที่มีประวัติการเดินทางไปในแหล่งระบาดของโรคโดยเฉพาะประเทศทางตะวันออกกลางเพื่อไปท่องเที่ยว ทำงาน หรือติดต่อทางธุรกิจ แล้วติดเชื้อกลับมา ส่วนปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน โรคลิชมาเนียพบในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน โดยพบในแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย สามารถเกิดกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันปกติหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นไปได้ว่าริ้นฝอยทรายในประเทศเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน
ผศ.ดร.พญ.จิตติมา กล่าวต่อว่า อีกโรคหนึ่งคือ โรคเท้าช้าง เกิดจากพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย ติดต่อจากคนไปสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค ยุงที่มีพยาธิตัวอ่อนกัดคน ตัวอ่อนไชผ่านแผลบนผิวหนังไปยังท่อน้ำเหลือง แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน มีอายุ 6-8 ปี ตัวแก่ผสมพันธุ์ปล่อยพยาธิตัวอ่อน (ไมโครฟิลาเรีย) ในกระแสเลือด ไมโครฟิลาเรียมีอายุ 6-12 เดือน ยุงดูดเลือดคนเป็นโรคแล้วไปแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไป คนที่ติดเชื้อโรคเท้าช้างมีอาการแสดงได้ 3 แบบ ได้แก่ 1. ไม่แสดงอาการแต่ตรวจพบไมโครฟิลาเรียในเลือด พบในผู้ติดโรคส่วนใหญ่ 2. คนที่มีอาการในระยะแรกมักมีไข้ เจ็บ บวมตามแนวของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขา ขาหนีบ หรืออัณฑะ เนื่องจากพยาธิตัวเต็มวัยที่อยู่ในท่อน้ำเหลืองสร้างความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อภายใน อาการอักเสบนี้จะเป็น ๆ หาย ๆ และ 3. หากการอักเสบเรื้อรังเป็นนานหลายปี ท่อน้ำเหลืองจะอุดตันทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวร (Elephantiasis) เพื่อป้องกันความพิการถาวรจึงควรวินิจฉัยและรักษาโรคเท้าช้างในระยะเริ่มแรกให้หายขาด
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าหมายว่าจะกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยโรคเท้าช้างในประเทศไทยเกิดจากเชื้อ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ เชื้อ Brugia malayi มียุงลายเสือเป็นพาหะ พบบริเวณที่ราบทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส เชื้อ Wuchereria bancrofti พบมากในบริเวณชายแดนไทย-พม่า มียุงลายป่า ยุงรำคาญ เป็นพาหะ จากรายงานสถานการณ์โรคเท้าช้างล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความชุกของโรคเท้าช้าง 0.36 ต่อประชากร 100,000 คน พบผู้ป่วยใหม่คนไทยเป็นโรคเท้าช้างเฉพาะจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบไมโครฟิลาเรีย 47 ราย (ความชุก 0.07 ต่อประชากร 100,000 คน) ส่วนผู้ที่มีอวัยวะบวมโตทั้งหมดเป็นผู้ป่วยเก่า สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงมีการเฝ้าระวังโรคเท้าช้างในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาร์ โดยตรวจเลือดหาพยาธิโรคเท้าช้างให้แก่แรงงานทุกคนที่ขึ้นทะเบียนในการตรวจสุขภาพประจำปีและให้ยารักษาผู้ที่พบพยาธิโรคเท้าช้าง จ่ายยารักษาโรคเท้าช้างให้แก่แรงงานชาวเมียนมาร์ทุกคนทุก 6 เดือน เพื่อควบคุมโรค เฝ้าระวังเจาะเลือดคนไทยที่อยู่รวมกับแรงงานชาวเมียนมาร์ใกล้แหล่งที่มียุงพาหะ รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในชุมชน
“การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่นานเพื่อทำงานในประเทศไทย กลุ่มที่ลักลอบเข้าเมืองจะไม่ได้รับการตรวจเลือดและรับประทานยารักษาโรคเท้าช้าง ดังนั้น คนไทยที่อาศัยอยู่รวมกับแรงงานเหล่านี้หรือนายจ้างควรดูแลให้แรงงานและครอบครัวของเขาได้รับยารักษาโรคเท้าช้างอย่างสม่ำเสมอ ลดโอกาสที่โรคเท้าช้างจะกลับมาแพร่ระบาดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ” ผศ.ดร.พญ.จิตติมา กล่าวทิ้งท้าย
ภาพประกอบ 2. รศ.นพ.นภดล นพคุณ / 3. นพ.กฤษฎา มโหทาน
4. พญ.รัตติยา เตชะขจรเกียรติ / 5. ผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์