ความเสี่ยงสโตรค 1 ปีหลังสมองขาดเลือดชั่วคราวหรือสโตรคไม่รุนแรง

ความเสี่ยงสโตรค 1 ปีหลังสมองขาดเลือดชั่วคราวหรือสโตรคไม่รุนแรง

N Engl J Med 2016;374:1533-1542.

            บทความเรื่อง One-Year Risk of Stroke after Transient Ischemic Attack or Minor Stroke อ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาระหว่างปี ค.ศ. 1997-2003 ประเมินว่าความเสี่ยงสโตรคหรือภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสูงขึ้นมาที่ 12-20% ในช่วง 3 เดือนแรกนับจากสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack - TIA) หรือสโตรคไม่รุนแรง โดยโครงการ TIAregistry.org ได้ระบุข้อมูลลักษณะผู้ป่วย ปัจจัยที่เป็นสาเหตุ และผลลัพธ์ในผู้ป่วย TIA หรือสมองขาดเลือดไม่รุนแรง ซึ่งได้รับการรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุข และได้รายงานผลการประเมินฉุกเฉินโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหลอดเลือดสมอง

            คณะผู้วิจัยรวบรวมผู้ป่วยซึ่งเกิด TIA หรือสโตรคไม่รุนแรงภายในช่วง 7 วันก่อนหน้า การคัดเลือกศูนย์วิจัยพิจารณาจากการมีระบบประเมินฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วย TIA คณะผู้วิจัยได้ประมาณความเสี่ยงที่ 1 ปีต่อสโตรคและผลลัพธ์รวมของสโตรค ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังได้ประเมินความสัมพันธ์ของคะแนน ABCD2 สำหรับความเสี่ยงสโตรค (พิสัยคะแนนตั้งแต่ 0 [ความเสี่ยงต่ำสุด] ถึง 7 [ความเสี่ยงสูงสุด]) ผลลัพธ์จากการสแกนสมอง และสาเหตุของ TIA หรือสโตรคไม่รุนแรงต่อความเสี่ยงการเกิดสโตรคเป็นซ้ำตลอดระยะเวลา 1 ปี

            คณะผู้วิจัยได้รวบรวมผู้ป่วย 4,789 รายจากศูนย์วิจัย 61 แห่งใน 21 ประเทศ ระหว่างปี ค.ศ. 2009-2011    ผู้ป่วย 78.4% ได้รับการประเมินโดยแพทย์โรคหลอดเลือดสมองภายใน 24 ชั่วโมงนับจากแสดงอาการ ผู้ป่วย 33.4% มีภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วย 23.2% มีหลอดเลือดสมอง (extracranial หรือ intracranial) ตีบ 50% หรือมากกว่าอย่างน้อย 1 จุด และผู้ป่วย 10.4% มีภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว ค่าประมาณจากการวิเคราะห์ Kaplan-Meier estimate ของอัตราการเกิดเหตุการณ์ผลลัพธ์รวมด้านหัวใจและหลอดเลือดที่ 1 ปีเท่ากับ 6.2% (ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 5.5-7.0) ค่าประมาณจากการวิเคราะห์ Kaplan-Meier estimate ของอัตราการเกิดสโตรคที่ 2, 7, 30, 90 และ 365 วัน เท่ากับ 1.5%, 2.1%, 2.8%, 3.7% และ 5.1% ตามลำดับ ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์พหุตัวแปรพบว่า สมองขาดเลือดหลายจุดจากการสแกนสมอง ภาวะหลอดเลือดแข็งของหลอดเลือดแดงใหญ่ และคะแนน ABCD2 เท่ากับ 6 หรือ 7 ต่างก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงสโตรคที่สูงขึ้นกว่า 2 เท่า

            คณะผู้วิจัยพบความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดภายหลังเกิด TIA ต่ำกว่าที่ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้ คะแนน ABCD2 ผลลัพธ์จากการสแกนสมอง และภาวะหลอดเลือดแข็งของหลอดเลือดแดงใหญ่จะช่วยจัดกลุ่มความเสี่ยงสโตรคเป็นซ้ำภายใน 1 ปีนับจากเกิด TIA หรือสโตรคไม่รุนแรง