ปัจจัยเสี่ยงครรภ์เป็นพิษในระยะเริ่มตั้งครรภ์

ปัจจัยเสี่ยงครรภ์เป็นพิษในระยะเริ่มตั้งครรภ์

BMJ 2016;353:i1753.

            บทความเรื่อง Clinical Risk Factors for Pre-Eclampsia Determined in Early Pregnancy: Systematic Review and Meta-Analysis of Large Cohort Studies รายงานข้อมูลจากการศึกษาทบทวนและการวิเคราะห์อภิมานจากข้อมูลการศึกษาวิจัยแบบไปข้างหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมหลักฐานปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกสำหรับให้แพทย์ตรวจสอบที่อายุครรภ์ ≤ 16 สัปดาห์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ

            ข้อมูลการศึกษารวบรวมจากฐานข้อมูล PubMed และ Embase ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2015 โดยคัดเลือกจากการศึกษาวิจัยที่มีจำนวนอาสาสมัคร ≥ 1,000 ราย และประเมินความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษตามปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกทั่วไปจากการตรวจสอบที่อายุครรภ์ ≤ 16 สัปดาห์ ผู้ทบทวนได้สังเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่นำมาศึกษา จากนั้นจึงคำนวณอัตราเหตุการณ์และความเสี่ยงสัมพัทธ์รวมสำหรับภาวะครรภ์เป็นพิษสำหรับปัจจัยเสี่ยงแต่ละตัวจากทั้งหมด 14 ตัว

            มีข้อมูลการตั้งครรภ์ 25,356,688 รายจากการศึกษาวิจัย 92 โครงการ ความเสี่ยงสัมพัทธ์รวมสำหรับปัจจัยเสี่ยงแต่ละตัวสูงกว่า 1.0 อย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นประวัติทารกโตช้าในครรภ์ ผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการ  antiphospholipid antibody syndrome มีอัตรารวมของภาวะครรภ์เป็นพิษสูงสุด (17.3% ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 6.8%-31.4%) ขณะที่ผู้หญิงที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษมีความเสี่ยงสัมพัทธ์รวมสูงสุด โดยที่ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงรองลงมาเป็นอันดับ 2 ทั้งในแง่อัตรารวม (16.0% โดยอยู่ระหว่าง 12.6%-19.7%) และความเสี่ยงสัมพัทธ์รวม (5.1 โดยอยู่ระหว่าง 4.0-6.5) ของครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงสำคัญตัวอื่น ได้แก่ ภาวะเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ (อัตรารวม 11.0% โดยอยู่ระหว่าง 8.4%-13.8% และความเสี่ยงสัมพัทธ์รวมเท่ากับ 3.7 โดยอยู่ระหว่าง 3.1-4.3) ดัชนีมวลกายระหว่างตั้งครรภ์ > 30 (7.1% โดยอยู่ระหว่าง 6.1%-8.2% และ 2.8 โดยอยู่ระหว่าง 2.6-3.1) และการใช้เทคโนโลยีช่วยตั้งครรภ์ (6.2% โดยอยู่ระหว่าง 4.7%-7.9% และ 1.8 โดยอยู่ระหว่าง 1.6-2.1) 

            มีปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกหลายตัวที่อาจระบุผู้หญิงในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ที่มี “ความเสี่ยงสูง” ต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวแบบการพยากรณ์ทางคลินิกสำหรับภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมถึงการใช้แอสไพรินเชิงป้องกันในระหว่างตั้งครรภ์