การรักษาเบาหวานและความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

การรักษาเบาหวานและความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

BMJ 2016;352:i1450.

            บทความเรื่อง Diabetes Treatments and Risk of Amputation, Blindness, Severe Kidney Failure, Hyperglycaemia, and Hypoglycaemia: Open Cohort Study in Primary Care รายงานข้อมูลจากการศึกษาแบบไปข้างหน้าในบริการปฐมภูมิประเมินความเสี่ยงต่อการตัดอวัยวะ สูญเสียการมองเห็น ไตวายขั้นรุนแรง  ภาวะน้ำตาลสูง และภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งได้รับยาควบคุมโรคเบาหวาน  โดยเฉพาะยาใหม่ รวมถึงยากลุ่ม gliptin หรือ glitazone (thiazolidinedione)  

            การศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลเวชปฏิบัติ 1,243 รายการในฐานข้อมูล QResearch ของอังกฤษ รวมผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 25-84 ปี ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2007 ถึงวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2015 จำนวน 469,688 ราย การรักษาที่ผู้ป่วยได้รับประกอบด้วย การรักษาด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด (glitazone, gliptin, metformin, sulphonylurea, insulin และยาอื่น) อย่างเดียวหรือการรักษาแบบผสมผสาน

            ผลลัพธ์หลักได้แก่ การวินิจฉัยการตัดอวัยวะ การสูญเสียการมองเห็น ไตวายขั้นรุนแรง ภาวะน้ำตาลสูง และน้ำตาลต่ำในเลือดที่บันทึกในประวัติบริการปฐมภูมิ การเสียชีวิต หรือการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วย โดยประเมินค่า hazard ratios สำหรับการรักษาโรคเบาหวานปรับสำหรับตัวแปรกวนด้วยตัวแบบ Cox

            ผู้ป่วย 21,308 ราย (4.5%) และ 32,533 ราย (6.9%) ได้รับการจ่ายยากลุ่ม glitazone และ gliptin ระหว่างการตรวจติดตามตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยาพบว่า ยากลุ่ม glitazone สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการสูญเสียการมองเห็น (hazard ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 0.71 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.57-0.89 โดยมีอัตราการได้รับยาเท่ากับ 14.4 ต่อ 10,000 คน/ปี) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด (เท่ากับ 1.22 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 1.10-1.37; 65.1) ขณะที่ยากลุ่ม gliptin สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด (เท่ากับ 0.86 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.77-0.96 และเท่ากับ 45.8) ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม gliptin อย่างเดียวหรือ glitazone อย่างเดียวมีจำนวนค่อนข้างต่ำแต่ก็พบความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อไตวายขั้นรุนแรงเทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียว (hazard ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 2.55 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 1.13-5.74) คณะผู้วิจัยพบความเสี่ยงที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญต่อภาวะน้ำตาลสูงในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย metformin ร่วมกับ gliptin (0.78 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.62-0.97) หรือ glitazone (0.60 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.45-0.80) อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียว ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย metformin และ sulphonylurea ร่วมกับ gliptin (ค่า hazard ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 5.07 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 4.28-6.00) หรือglitazone (6.32 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 5.35-7.45) อย่างใดอย่างหนึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียว แต่ความเสี่ยงดังกล่าวใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย metformin ร่วมกับ sulphonylurea (เท่ากับ 6.03 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 5.47-6.63) ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย metformin, sulphonylurea และ glitazone มีความเสี่ยงที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญต่อการสูญเสียการมองเห็นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับ metformin อย่างเดียว (เท่ากับ 0.67 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.48-0.94)

            ข้อมูลจากการศึกษาชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าต่อภาวะน้ำตาลสูงในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบผสมผสานด้วย metformin ร่วมกับ gliptin หรือ glitazone อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียว เมื่อเทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียวพบว่า การรักษาด้วย metformin และ sulphonylurea ร่วมกับ gliptin หรือ glitazone อย่างใดอย่างหนึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดซึ่งใกล้เคียงกับการรักษาด้วย metformin ร่วมกับ sulphonylurea เมื่อเทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียวพบว่า การรักษาด้วย metformin และ sulphonylurea ร่วมกับ glitazone สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อภาวะสูญเสียการมองเห็น อนึ่ง แม้ผลลัพธ์ดังกล่าวอาจได้รับอิทธิพลจากตัวแปรกวนแต่ก็อาจมีนัยต่อการสั่งจ่ายยาลดน้ำตาลในเลือด