ประเมินซ้ำสมมติฐานอาหาร-หัวใจ

ประเมินซ้ำสมมติฐานอาหาร-หัวใจ

BMJ 2016;353:i1246.

            บทความเรื่อง Re-evaluation of the Traditional Diet-Heart Hypothesis: Analysis of Recovered Data from Minnesota Coronary Experiment (1968-1973) รายงานการประเมินสมมติฐานอาหาร-หัวใจจากการทบทวนและวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์จากการศึกษาวิจัย Minnesota Coronary Experiment (MCE) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในบริบทการศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของอาหารและหัวใจในปัจจุบันด้วยการทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน

            การศึกษา MCE (1968-1973) เป็นการศึกษาเปรียบเทียบด้วยวิธีการสุ่มแบบปกปิดสองด้านเพื่อทดสอบว่า การใช้น้ำมันพืชซึ่งอุดมด้วยกรดไลโนเลอิกแทนไขมันอิ่มตัวสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในซีรัมซึ่งจะนำไปสู่การลดโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิตหรือไม่ ข้อมูลที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์จากการศึกษา MCE และข้อมูลดิบได้นำมาวิเคราะห์ตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ก่อนโดยคณะผู้วิจัยเดิม จากนั้นจึงดำเนินการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานจากข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบซึ่งลดคอเลสเตอรอลในซีรัมด้วยการใช้น้ำมันพืชซึ่งอุดมด้วยกรดไลโนเลอิกแทนไขมันอิ่มตัวโดยไม่ได้รับผลจากการแทรกแซงด้วยวิธีอื่น

            การศึกษามีขึ้นในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ 1 แห่ง และโรงพยาบาลประสาทของรัฐ 6 แห่งในรัฐมิเนโซตาของสหรัฐอเมริกา โดยศึกษาข้อมูลบทวิเคราะห์ที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์จากอาสาสมัครชายและหญิงอายุ 20-97 ปีที่ได้รับการสุ่มจำนวน 9,423 ราย ข้อมูลระยะยาวเกี่ยวกับซีรัมคอเลสเตอรอลสำหรับอาสาสมัคร 2,355 รายที่ได้รับอาหารที่ศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือมากกว่า และข้อมูลการชันสูตร 149 ชุด

            อาหารลดคอเลสเตอรอลในซีรัมเป็นอาหารที่แทนไขมันอิ่มตัวด้วยกรดไลโนเลอิก (จากน้ำมันข้าวโพดและมาการีนไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนจากน้ำมันข้าวโพด) ส่วนอาหารควบคุมเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง  โดยเป็นไขมันสัตว์ มาการีนทั่วไป และเนยขาว ผลลัพธ์หลักได้แก่ การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของคอเลสเตอรอลในซีรัมและการเสียชีวิต รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งและกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ตรวจพบจากการชันสูตร

            ในกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ศึกษาตรวจพบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของคอเลสเตอรอลในซีรัมเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (ค่าเฉลี่ยความต่างจากเริ่มต้นเท่ากับ -13.8% เปรียบเทียบกับ -1.0%, p < 0.001) กราฟจากการวิเคราะห์ Kaplan Meier ไม่พบประโยชน์ด้านอัตราตายในกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับการสุ่มทั้งหมดหรือในกลุ่มย่อยที่จำเพาะมาก่อน จากการศึกษาพบความเสี่ยงที่สูงขึ้น 22% ต่อการเสียชีวิตสำหรับทุก 30 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (0.78 มิลลิโมล/ลิตร) ที่ลดลงของคอเลสเตอรอลในซีรัมจากตัวแบบวิเคราะห์การถดถอยของ Cox ที่ปรับตัวแปรร่วม (hazard ratio เท่ากับ 1.22 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 1.14-1.32, p < 0.001) จากการศึกษาไม่พบหลักฐานของประโยชน์ในกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ศึกษาสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย จากการทบทวนอย่างเป็นระบบพบการศึกษาเปรียบเทียบ 5 โครงการที่สอดคล้องตามเกณฑ์การศึกษา (n = 10,808) และจากการวิเคราะห์อภิมานพบว่า การรับประทานอาหารลดคอเลสเตอรอลไม่มีประโยชน์ด้านอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (เท่ากับ 1.13 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.83-1.54) หรืออัตราตายจากทุกสาเหตุ (เท่ากับ 1.07 ค่า 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 0.90-1.27)

            หลักฐานจากการศึกษาเปรียบเทียบชี้ว่า การแทนไขมันอิ่มตัวในอาหารด้วยกรดไลโนเลอิกมีประสิทธิผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลในซีรัม แต่ไม่สนับสนุนสมมติฐานว่าผลลัพธ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจหรือจากทุกสาเหตุ ผลลัพธ์จากการศึกษา Minnesota Coronary Experiment จึงนับเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนว่าข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเป็นสาเหตุให้ประเมินประโยชน์ที่สูงเกินจริงจากการแทนไขมันอิ่มตัวด้วยน้ำมันพืชซึ่งอุดมด้วยกรดไลโนเลอิก