สาธารณสุขยุคใหม่ ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม
ในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สภาวการณ์ทางประชากรของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเอาวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ และการดำเนินงานทางด้านการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการขยายบริการทางการแพทย์ เช่น การเพิ่มจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ หรือการมีโครงการสาธารณสุขขั้นมูลฐาน และการดำเนินการควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ หรือนโยบายโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งมีผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณประชากร
จากผลสัมฤทธิ์ข้างต้นนี้ อาจคาดการณ์ได้ว่าปี พ.ศ. 2569 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญในการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพให้เท่าทันกับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมสุขภาพมาช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งพัฒนาและจัดระบบบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และทั่วถึงอย่างเท่าเทียม ทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในปี พ.ศ. 2559 เน้นหนัก 3 ด้านคือ 1. การพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย ดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงการดูแลในระยะสุดท้าย 2. การพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการได้ และ 3. การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการบริการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพหุภาคีและทุกภาคส่วนในสังคม มีการประเมินนวัตกรรมและเทคโนโลยี และมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของประชาชน เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ระบบสุขภาพยั่งยืน โดยเฉพาะการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะมีผู้สูงอายุและผู้พิการเพิ่มมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องการนวัตกรรมทางสุขภาพมาใช้ในการพึ่งพาตนเอง ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยทั้ง 3 ยุทธศาสตร์นี้ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนร่วมมือแบบพหุภาคีจากหลายภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนานวัตกรรมระบบสุขภาพให้เกิดความสำเร็จได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการทำความเข้าใจด้านระบบนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อ “ทำให้ได้... และใช้ให้เป็น” อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายความเป็นเลิศใน 4 ด้านคือ 1. การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (Prevention and Promotion Excellence) ที่เป็นนวัตกรรมสังคม มีหลักการในการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้อง มีสุขภาพดี ซึ่งเป็นหัวใจของการสาธารณสุข 2. ระบบบริการ (Service Excellence) ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยทุกระดับ 3. การพัฒนาคน (People Excellence) ฝึกอบรมบุคลากรทุกระดับ และ 4. ระบบบริหารจัดการ (Governance Excellence) หากประสบความสำเร็จทั้ง 4 ด้าน ก็จะเกิดเป็นนวัตกรรมของระบบการแพทย์และสาธารณสุข เป็นตัวอย่างให้นานาประเทศต่อไป
“กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดเป็นโรงพยาบาลที่ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นนวัตกรรมตามมติของคณะกรรมการระบบยาแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การใช้ยาทุกชนิดอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะจะช่วยลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข ใน 10-20 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยานับ 10 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชีย รวมทั้งช่วยลดงบประมาณและความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการซื้อยาจากต่างประเทศ” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 พัฒนาประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าทางนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนนโยบายนี้ ด้วยเทคโนโลยีและธุรกิจสุขภาพ พัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และการแพทย์แผนไทย ด้วยภูมิปัญญาไทย สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการแพทย์ไทย พร้อมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมยา เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เนื่องจากร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นค่ายา
สำหรับที่ผ่านมาความสำเร็จด้านนวัตกรรมสาธารณสุขคือ 1. การมีอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 1.2 ล้านคน ช่วยให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง และจะพัฒนาต่อยอดให้มีอาสาสมัครประจำครอบครัวเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน 2. จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ มีผู้จัดการสุขภาพ และผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน จัด Primary Care Cluster (PCC) ดูแลโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 3 ทีมต่อประชากร 30,000 คน จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 3. การจัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อมครอบคลุมทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยใช้สหวิชาชีพดูแลเรื่องการออกกำลังกายและอาหาร 4. นวัตกรรมเพื่อลดการบาดเจ็บจากการจราจร ด้วยการจัดการฐานข้อมูล ชี้จุดเสี่ยง เพิ่มศักยภาพในการรักษาฉุกเฉินได้อย่างทันเวลา ตั้งศูนย์รองรับอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล และใช้สื่อออนไลน์ช่วยผู้ประสบภัยเข้าถึงบริการได้ทันเวลา 5. โครงการเด็กไทยสายตาดี ตรวจคัดกรองและมอบแว่นตาแก่เด็ก ป.1 ที่มีสายตาผิดปกติทั่วประเทศ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และ 3 กองทุนสุขภาพ ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เป็นต้น
ด้านคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มุ่งเน้นความสำคัญของนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชากรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 13-15 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการจัด การประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2559 Siriraj International Conference in Medicine and Public Health (SICMPH) ภายใต้ธีม “Innovation Health” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงความเป็นมาของการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุข หรือ International Conference in Medicine and Public Health ว่า การประชุมวิชาการดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นเจ้าภาพ ต่อมาการประชุมวิชาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น Siriraj International Conference in Medicine and Public Health หรือ SICMPH โดยกำหนดให้เป็นการประชุมวิชาการประจำปีของคณะ ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของอาเซียน (Medical Hub of ASEAN) ในการให้บริการด้านสุขภาพและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ
ในปีนี้ Siriraj International Conference in Medicine and Public Health (SICMPH) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “Innovation in Health” มีเนื้อหาวิชาการที่น่าสนใจซึ่งเกิดจากความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้จากหลายภาคส่วนใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. Precision medicine (การแพทย์แม่นยำ)
การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลร่วมกับเทคโนโลยีชีวโมเลกุล ทำให้สามารถนำ “อภิมหาข้อมูล” หรือ “Big Data” มาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค เลือกวิธีการรักษา และทำนายผลการรักษาได้อย่างแม่นยำขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ทั้งวิทยาการแม่นยำที่มีใช้แล้วในปัจจุบัน และประเด็นที่จะมีการประยุกต์ใช้ในอนาคตอันใกล้
2. Telemedicine (การแพทย์ทางไกล)
เทคโนโลยีการสื่อสารช่วยเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาได้หลายบริบทที่มีข้อจำกัดและเพิ่มความเท่าเทียมให้ผู้ป่วยทุกระดับสามารถเข้าถึงการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้อย่างคุ้มค่าทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ได้แก่ การดูแลรักษาในสถานที่ที่ห่างไกลและขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ การดูแลรักษาในสถานการณ์ฉุกเฉินและการรักษาที่ต้องการช่องทางด่วนพิเศษ (fast tract) การดูแลรักษาในสถานที่อันตราย นอกจากนี้เทคโนโลยียังอำนวยความสะดวกในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษา
อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในทางการแพทย์ก็ก่อให้เกิดความกังวลอีกหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ความกังวลเรื่องความมั่นคงของระบบข้อมูล ความเสี่ยงจากการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย และความรับผิดทางการแพทย์ จึงมีการถกประเด็นด้านกฎหมายของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในทางการแพทย์ รวมถึงตัวอย่างของระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน และการส่งต่อข้อมูลจากจุดเกิดเหตุไปยังสถานพยาบาลในเครือข่ายสถานพยาบาล เพื่อการให้คำปรึกษาเบื้องต้นและการเตรียมการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อให้เหมาะสมทันท่วงที
3. Future medicine (การแพทย์แห่งอนาคต)
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การแพทย์แห่งอนาคตไม่ใช่เรื่องนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ช่วยให้แพทย์ตัดสินใจในการรักษาได้แม่นยำขึ้น เช่น
- Application ต่าง ๆ ใน mobile device และเครื่องมือดิจิตอลที่สวมใส่ได้ (wearable device) ช่วยให้การดูแลสุขภาพเป็นไปโดยสะดวกและสามารถนำข้อมูลมาตัดสินใจให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมคุ้มค่า
- แขนขาเทียม bionic เป็นเครื่องกลที่มีการทำงานประสานกับระบบประสาทของผู้สวมใส่ ทำให้แขนขาเทียมนั้นเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับแขนขาจริง และยังมีความสามารถเหนือข้อจำกัดของอวัยวะธรรมชาติเสียอีก
- แว่นตาติด sensor ที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถบังคับรถเข็น wheelchair ให้เคลื่อนที่ไปไหน ๆ ได้ตามทิศทางที่ตนเองต้องการ โดยไม่ต้องใช้แขนขาหรือคนช่วยเข็นรถ แต่ใช้เพียงการกลอกตาเท่านั้น
- บ้านเมืองอัจฉริยะ (smart home/smart city) ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพังอย่างมีศักดิ์ศรี
การประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการจำนวนกว่า 2,000 คน ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขา ตลอดจนนิสิต-นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้และความเข้าใจในนวัตกรรมสุขภาพแล้ว ยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปอีกด้วย