ยาต้านซึมเศร้าและความเสี่ยงหัวใจและหลอดเลือดในคนอายุ 20-64 ปี

ยาต้านซึมเศร้า และความเสี่ยงหัวใจและหลอดเลือดในคนอายุ 20-64 ปี

BMJ 2016;352:i1350.

บทความเรื่อง Antidepressant Use and Risk of Cardiovascular Outcomes in People Aged 20 to 64: Cohort Study Using Primary Care Database รายงานผลลัพธ์จากการศึกษาแบบไปข้างหน้าเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าแต่ละชนิด และอัตราของผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด 3 ด้าน (กล้ามเนื้อหัวใจตาย สโตรคหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว และหัวใจเต้นผิดปกติ) ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

การศึกษารวบรวมข้อมูลบริการปฐมภูมิจากฐานข้อมูล QResearch ของสหราชอาณาจักร รวมผู้ป่วย 238,963 ราย ซึ่งมีอายุ 20-64 ปี และได้รับการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ประกอบด้วยกลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้า (tricyclic และยาต้านโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้อง ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors หรือยาต้านโรคซึมเศร้ากลุ่มอื่น) ขนาดยา ระยะการใช้ยา และยาต้านซึมเศร้าที่มักสั่งจ่าย

ผลลัพธ์หลักในการศึกษาวิจัย ได้แก่ การวินิจฉัยพบกล้ามเนื้อหัวใจตาย สโตรคหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว และหัวใจเต้นผิดปกติเป็นครั้งแรกระหว่างการตรวจติดตามเป็นระยะเวลา 5 ปี อนึ่ง ค่า hazard ratios ซึ่งปรับตัวแปรกวนได้ประมาณด้วยตัวแบบ Cox proportional hazards models 

ระหว่างการตรวจติดตามเป็นระยะเวลา 5 ปี พบผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตาย 772 ราย สโตรคหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว 1,106 ราย และหัวใจเต้นผิดปกติ 1,452 ราย จากการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าและกล้ามเนื้อหัวใจตายตลอดระยะการตรวจติดตาม 5 ปี ในปีแรกของการตรวจติดตามพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors มีความเสี่ยงต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญต่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย (hazard ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 0.58 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.42-0.79) เมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยาต้านโรคซึมเศร้า ขณะที่จากการเปรียบเทียบระหว่างยาแต่ละตัวพบว่า fluoxetine สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ (0.44  ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.27-0.72) และ lofepramine สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (3.07 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 1.50-6.26) ขณะที่ไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าหรือยาแต่ละตัวต่อความเสี่ยงสโตรคหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว กลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าไม่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับหัวใจเต้นผิดปกติตลอดระยะการตรวจติดตาม 5 ปี แต่พบว่าความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 28 วันของการรักษาด้วย tricyclic และยาต้านโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้อง (hazard ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 1.99 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 1.27-3.13) นอกจากนี้พบว่า fluoxetine สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญต่อหัวใจเต้นผิดปกติ (0.74 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.59-0.92) ตลอด 5 ปี ขณะที่ citalopram ไม่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงหัวใจเต้นผิดปกติแม้ใช้ในขนาดสูง (1.11 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.72-1.71 สำหรับขนาด ≥ 40 มิลลิกรัม/วัน)

การศึกษาวิจัยนี้ไม่พบหลักฐานว่ายากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อหัวใจเต้นผิดปกติ หรือสโตรค/สมองขาดเลือดชั่วคราวในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงอายุ 20-64 ปี รวมถึงไม่พบว่า citalopram สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อหัวใจเต้นผิดปกติ ขณะที่พบความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการใช้ยากลุ่ม  selective serotonin reuptake inhibitors โดยเฉพาะ fluoxetine และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจาก lofepramine