รูปแบบการเดินทางและโรคอ้วนวัยกลางคน

รูปแบบการเดินทางและโรคอ้วนวัยกลางคน

Lancet Diabetes Endocrinol 2016;4(5):420-435.

บทความเรื่อง Active Commuting and Obesity in Mid-Life: Cross-Sectional, Observational Evidence from UK Biobank รายงานว่า ปัญหาขาดการออกกำลังกายเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วนและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คณะผู้วิจัยจึงได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการเดินทางอย่างกระฉับกระเฉงและโรคอ้วนในวัยกลางคน โดยอาศัยข้อมูลการสังเกตแบบตัดขวางของขนาดร่างกายในฐานข้อมูล UK Biobank 

            ข้อมูลรวบรวมจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 40-69 ปี ซึ่งเข้ารับการตรวจร่างกายยังศูนย์วิจัย 22 แห่งทั่วสหราชอาณาจักรระหว่างปี ค.ศ. 2006-2010 ข้อมูลรายงานรูปแบบการเดินทางได้จำแนกออกเป็น 7 กลุ่มเรียงตามระดับการออกกำลังกาย ผลลัพธ์ได้ประเมินจากดัชนีมวลกาย (ตามน้ำหนักและส่วนสูง) และร้อยละของไขมันในร่างกาย ตัวแปรกวนที่สันนิษฐานประกอบด้วยรายได้ ความขัดสนของพื้นที่ อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือชนบท การศึกษา ดื่มสุรา สูบบุหรี่ การเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นงานอดิเรก การเดินเพื่อความผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นอาชีพ สุขภาพทั่วไป ตลอดจนความพิการหรือโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาด โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวแบบถดถอยเชิงเส้นพหุตัวแปรแบ่งตามเพศ

กลุ่มตัวอย่างสมบูรณ์ ได้แก่ ผู้ชาย 72,999 ราย และผู้หญิง 83,667 ราย สำหรับผลลัพธ์ด้านดัชนีมวลกาย และผู้ชาย 72,139 ราย และผู้หญิง 82,788 ราย สำหรับผลลัพธ์ด้านร้อยละของไขมันในร่างกาย   การเดินทางอย่างกระฉับกระเฉงสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญโดยอิสระกับการลดลงของดัชนีมวลกาย และร้อยละของไขมันในร่างกายในทั้ง 2 เพศ โดยมีระดับลดหลั่นตามรูปแบบการเดินทางทั้ง 7 กลุ่ม จากตัวแบบที่ปรับสมบูรณ์เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียวพบว่า ผู้ที่เดินทางโดยอาศัยขนส่งมวลชนร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายมีดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (β coefficient ในผู้ชายเท่ากับ -1.00 กิโลกรัม/ตารางเมตร [95% CI อยู่ระหว่าง -1.14 ถึง -0.87] ค่า p < 0.0001 และในผู้หญิงเท่ากับ -0.67 กิโลกรัม/ตารางเมตร [-0.86 ถึง -0.47] ค่า p < 0.0001) เช่นเดียวกับผู้ที่ปั่นจักรยานหรือปั่นจักรยานร่วมกับเดินไปเอง (ผู้ชายเท่ากับ -1.71 กิโลกรัม/ตารางเมตร [95% CI อยู่ระหว่าง -1.86 ถึง -1.56] ค่า p < 0.0001 ในผู้หญิงเท่ากับ -1.65 กิโลกรัม/ตารางเมตร [-1.92 ถึง -1.38] ค่า p < 0.0001) นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียวพบว่า ผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งมวลชนร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายมีร้อยละของไขมันร่างกายต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ผู้ชายเท่ากับ  -1.32% [95% CI อยู่ระหว่าง -1.53 ถึง -1.12] ค่า p < 0.0001 ผู้หญิงเท่ากับ -1.10% [-1.40 ถึง -0.81] ค่า p < 0.0001) เช่นเดียวกับผู้ที่ปั่นจักรยานหรือปั่นจักรยานร่วมกับเดินไปเอง (ผู้ชายเท่ากับ -2.75% [95% CI อยู่ระหว่าง -3.03 ถึง -2.48] ค่า p < 0.0001 ผู้หญิงเท่ากับ -3.26% [-3.80 ถึง -2.71] ค่า p < 0.0001)

การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาแรกที่ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล UK Biobank ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเดินทางด้วยความกระฉับกระเฉงและโรคอ้วน ซึ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยอิสระที่เห็นได้ชัดระหว่างการเดินทางด้วยความกระฉับกระเฉงต่อน้ำหนักตัวและสัดส่วนไขมันที่อยู่ในเกณฑ์ดี และข้อมูลนี้สนับสนุนให้จัดทำนโยบายส่งเสริมรูปแบบการเดินทางด้วยความกระฉับกระเฉงเพื่อป้องกันโรคอ้วนในประชากรวัยกลางคน