ความสัมพันธ์ทำงานกะดึกและความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้หญิง

ความสัมพันธ์ทำงานกะดึกและความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้หญิง

JAMA. 2016;315(16):1726-1734.

บทความเรื่อง Association between Rotating Night Shift Work and Risk of Coronary Heart Disease among Women รายงานว่า ข้อมูลจากการศึกษาแบบไปข้างหน้าหลายโครงการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานกะดึกและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรายงานผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกัน และมีข้อจำกัดจากระยะการตรวจติดตามที่สั้น

คณะผู้วิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกะดึกและความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในการศึกษาแบบไปข้างหน้าจากผู้หญิงสุขภาพแข็งแรง 189,158 ราย และตรวจติดตามเป็นระยะ 24 ปี ในการศึกษา Nurses’ Health Studies (NHS [1988-2012]: N = 73,623 และ NHS2 [1989-2013]: N = 115,535) โดยติดตามประวัติการทำงานกะดึก (≥ 3 กะต่อเดือน ร่วมกับการทำงานกะกลางวันและกะบ่าย) ที่พื้นฐาน (ปรับปรุงข้อมูลทุก 2-4 ปีในการศึกษาวิจัย NHS2)

ผลลัพธ์หลักได้แก่ การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ angina pectoris ที่ยืนยันจากการวินิจฉัยด้วยการฉีดสี การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ การใส่ขดลวด และการขยายหลอดเลือด

ระหว่างการตรวจติดตามพบการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 7,303 รายในการศึกษา NHS (อายุเฉลี่ยที่พื้นฐานเท่ากับ 54.5 ปี) และ 3,519 รายในการศึกษา NHS2 (อายุเฉลี่ย 34.8 ปี) จากตัวแบบ Cox proportional hazards models ปรับพหุตัวแปรพบว่า จำนวนปีที่สูงขึ้นของการทำงานกะดึกที่พื้นฐานสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 2 กลุ่มการศึกษา จากการศึกษา NHS พบว่าอัตราอุบัติการณ์ปรับมาตรฐานอายุสำหรับการทำงานกะดึกน้อยกว่า 5 ปี ต่อ 100,000 คน-ปี เท่ากับ 435.1 (hazard ratio [HR] เท่ากับ 1.02 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.97-1.08) อัตราอุบัติการณ์สำหรับการทำงานกะดึกระหว่าง 5-9 ปี เท่ากับ 525.7 (HR เท่ากับ 1.12 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 1.02-1.22) อัตราอุบัติการณ์สำหรับการทำงานกะดึกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เท่ากับ  596.9 (HR เท่ากับ 1.18  ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 1.10-1.26 ค่า p < 0.001 สำหรับแนวโน้ม) เทียบกับอัตราอุบัติการณ์ 425.5 ในผู้หญิงที่ไม่เคยทำงานกะดึก

ในการศึกษา NHS2 พบว่าอัตราอุบัติการณ์สำหรับการทำงานกะดึกน้อยกว่า 5 ปี เท่ากับ 130.6 (HR เท่ากับ 1.05 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.97-1.13) อัตราอุบัติการณ์สำหรับการทำงานกะดึกระหว่าง 5-9 ปี เท่ากับ 151.6 (HR เท่ากับ 1.12 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.99-1.26) และอัตราอุบัติการณ์สำหรับการทำงานกะดึกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เท่ากับ 178.0 (HR เท่ากับ 1.15 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 1.01-1.32 ค่า p = 0.01 สำหรับแนวโน้ม) เทียบกับอัตราอุบัติการณ์ 122.6 ในผู้หญิงที่ไม่เคยทำงานกะดึก ในการศึกษา NHS พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างระยะการเวียนทำงานกะดึกและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเห็นชัดกว่าในช่วงครึ่งแรกของระยะการตรวจติดตาม (อัตราอุบัติการณ์สำหรับ < 5 ปี เท่ากับ 382.4 ค่า HR เท่ากับ 1.10 [95% CI อยู่ระหว่าง 1.01-1.21]  อัตราอุบัติการณ์สำหรับ 5-9 ปี เท่ากับ 483.1 ค่า HR เท่ากับ 1.19 [95% CI อยู่ระหว่าง 1.03-1.39] และอัตราอุบัติการณ์สำหรับ ≥ 10 ปีเท่ากับ 494.4 ค่า HR เท่ากับ 1.27 [95% CI อยู่ระหว่าง 1.13-1.42] ค่า p < 0.001 สำหรับแนวโน้ม) เทียบกับช่วงครึ่งหลัง (อัตราอุบัติการณ์สำหรับ < 5 ปี เท่ากับ 424.8 ค่า HR เท่ากับ 0.98 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.92-1.05] อัตราอุบัติการณ์สำหรับ 5-9 ปี เท่ากับ 520.7 ค่า HR เท่ากับ 1.08 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.96-1.21] และอัตราอุบัติการณ์สำหรับ ≥ 10 ปี เท่ากับ 556.2 ค่า HR เท่ากับ 1.13 [95% CI อยู่ระหว่าง 1.04-1.24] ค่า p = 0.004 สำหรับแนวโน้ม และ p = 0.02 สำหรับปฏิกิริยา) ซึ่งชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่ต่ำลงภายหลังหยุดทำงานกะดึก  และระยะเวลาที่นานขึ้นนับตั้งแต่หยุดทำงานกะดึกสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ต่ำลงในผู้ที่เคยทำงานกะดึกในการศึกษา NHS2 (p < 0.001 สำหรับแนวโน้ม)

จากการศึกษาในผู้หญิงซึ่งประกอบวิชาชีพพยาบาลพบว่า ระยะการทำงานกะดึกที่นานขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวสัมพันธ์กับจำนวนชั่วโมงทำงานและลักษณะของกลุ่มประชากรหรือไม่