สุขสุดท้ายที่ปลายทาง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

สุขสุดท้ายที่ปลายทาง "ผู้ป่วยระยะสุดท้าย"

            ในหลายประเทศได้จัดให้มีสถานที่ที่หนึ่งอันมีลักษณะกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้เข้าพักและได้รับการดูแลและรักษาพยาบาลที่เหมาะสม บรรเทาอาการปวดให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความทุกข์ทรมาน โดยดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งให้ญาติของผู้ป่วยได้มีโอกาสอยู่ร่วมดูแลด้วยตลอดเวลา เพื่อช่วยกันให้การพยาบาลและดูแลให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ในต่างประเทศจะเรียกสถานที่นี้ว่า “Hospice” ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ 

            ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะให้มีสถานที่ที่หนึ่งเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมและจากไปอย่างสงบ มิใช่การเสียชีวิตในห้อง ICU ที่ใช้เครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ มายื้อความตายให้ถึงที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องจากไปพร้อมกับเครื่องมือที่พันธนาการร่างไว้ อีกทั้งจากไปอย่างโดดเดี่ยวในห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล

            แม้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะรับรู้เรื่องดังกล่าว และอยากจะไปเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางครอบครัวและญาติมิตร แต่ก็ไม่อาจทำเช่นนั้นได้ในทุกกรณี เพราะในระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความเจ็บปวดและมีปัญหาทางการหายใจ ซึ่งญาติไม่สามารถให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากอาการดังกล่าวได้

            ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จึงมีเป้าหมายเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ได้จากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ โดยไม่ต้องถูกพันธนาการด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งศูนย์นี้จะเป็นที่ที่จัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง และเป็นศูนย์ฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปด้วย

            ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสถิติผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การประสบอุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 22,260,000 ราย โดยในปี พ.ศ. 2593 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 63 ของโลก คิดเป็น 14.3% ของผู้สูงอายุทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2559 สูงถึง 13% (ข้อมูลจากองค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2557) โดยที่ผ่านมาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวยังคงมุ่งเน้นการรักษาทางกายมากกว่าการเยียวยาทางจิตใจ เพื่อเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเวลาร่วมกันกับครอบครัว ด้วยเทคนิคการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ก่อนจากไปอย่างสงบโดยวิถีธรรมชาติ

            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศาสตร์ด้านการแพทย์และพยาบาล จึงกำหนดจัดตั้ง “ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์” (Thammasat Hospice Palliative Care) และ “ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง” (International Palliative Care Collaborating Center: IPCCC) โดยวิถีธรรมชาติแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ปลายทางของชีวิตผู้ป่วยมีความสมบูรณ์แบบสูงสุด ภายใต้การบูรณาการศาสตร์การแพทย์ พยาบาล และนิติศาสตร์เข้าด้วยกัน

            โดยศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จะเป็นศูนย์ประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยวิถีธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ปลายทางชีวิตของผู้ป่วยมีความสมบูรณ์แบบสูงสุด ภายใต้การบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์ ศาสตร์ทางการพยาบาล และนิติศาสตร์

            ในระยะต้น ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จะทำหน้าที่ประสานงานกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยรับผู้ป่วยหลังจากได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย และให้การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์จากสหสาขาวิชาชีพที่จะตอบสนองผู้ป่วยให้ตายดี (Good Death) ท่ามกลางบุตรหลาน หรือญาติมิตร ซึ่งศูนย์แห่งนี้ไม่ใช่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นคนทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงคนชราที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย รักษาไม่หาย และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน และถ้าในระหว่างการดูแลผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือญาติต้องการการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ทางศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามความต้องการของผู้ป่วยและญาติ

            นอกจากนี้ยังมีบริการฝึกอบรม ฝึกฝนการดูแลผู้ป่วยให้แก่ญาติหรือผู้ดูแลให้สามารถดูแลต่อที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้านได้อย่างสงบท่ามกลางบุตรหลานและญาติมิตร ด้วยความรักความอบอุ่นที่เรียกว่าตายดี (Good Death) เช่นเดียวกัน

            ในส่วนของศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง จะเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและจัดอบรมแก่ผู้สนใจด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งจะตั้งอยู่ในศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมสมาชิกที่มีความสนใจในศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเป็นสมาชิก สร้างงานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ตลอดจนพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ศูนย์ดังกล่าวยังเป็นศูนย์ฝึกและค้นคว้าวิจัยสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงจัดอบรมให้แก่พยาบาลและผู้ดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและมีประเทศสมาชิกเครือข่ายไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ

ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท เลขานุการศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ กล่าวว่า แนวคิดการดูแลแบบประคับประคองเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในประเทศไทยปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในสถานพยาบาลและโรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ยังไม่มีศูนย์ที่นำแนวคิดการดูแลแบบประคับประคองมาใช้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ไม่มีสถานที่ที่เป็นศูนย์ทางด้านนี้โดยตรง

สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายภายในศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จะอยู่ในรูปแบบกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาลที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านและโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปกับการบรรเทาทุกข์ของญาติ ตลอดจนสร้างความเข้าใจแก่ญาติในแง่ของสัจธรรมและใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยจะมีทีมแพทย์ผู้รักษาและพยาบาลคอยให้คำแนะนำในการดูแล การสื่อสาร และสังเกตปฏิกิริยาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยในแต่ละระยะ อาทิ หากผู้ป่วยมีสิ่งใดที่ติดค้างและปรารถนาจะกระทำ ทีมการดูแลทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิยา และนักกฎหมาย จะร่วมมือกันกับญาติในการจัดการดูแลตามความเชื่อและความศรัทธาที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายปรารถนา ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบ เป็นต้น 

"ศูนย์นี้จะเป็นสถานที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ไม่ใช่บ้านพักคนชรา เพราะจะให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ใกล้จะถึงแก่กรรมเท่านั้นจริง ๆ รวมทั้งยังจะเป็นศูนย์วิจัยเพื่อต่อยอดแนวคิด Palliative Care ไปใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพราะเราเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง เป็นแนวคิดที่ให้ผู้ป่วยจากไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นอกเหนือจากนั้นศูนย์แห่งนี้ยังเปิดให้คนมาอบรมดูงาน เรียกว่าเป็น pilot project ของประเทศไทยก็ว่าได้ในการนำแนวคิด Palliative Care ไปใช้"

ในเบื้องต้นศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จะรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเข้ามารักษาในลักษณะของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติแสดงความประสงค์ที่สามารถกระทำได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีหนทางไปสู่ความสงบในบั้นปลายของชีวิต โดยมีเป้าประสงค์สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้การรักษาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ 

"ในทางกฎหมาย ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้ป่วยรวมทั้งญาติผู้ป่วยสามารถทำพินัยกรรมก่อนถึงแก่กรรม หรือ Living Will คือ หนังสือทางกฎหมายที่ทุกคนสามารถทำได้ในเวลามีชีวิตอยู่ เขียนไว้สั้น ๆ ว่าเวลาที่จะไปให้ไปอย่างสงบ โดยที่ไม่ต้องยื้อชีวิต ให้ไปอย่างไม่ทุกข์ทรมาน ซึ่งได้รับการรับรองทางกฎหมาย แพทย์หรือญาติพี่น้องที่ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องมือเพื่อยื้อชีวิตก็จะไม่มีความผิดทางกฎหมาย เพราะผู้ป่วยได้แสดงเจตนาไว้แล้ว"

ทั้งนี้ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มีกำหนดจัดสร้างแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2561 ตั้งอยู่บริเวณซอยคลองหลวง 25 ถ.พหลโยธิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 44 ไร่ ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 250 ล้านบาท โดยภายในจะประกอบด้วยเตียงผู้ป่วย ซึ่งในเบื้องต้นสามารถรองรับได้ 20 เตียง ห้องพักญาติผู้ป่วย 20 ห้อง เครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาที่ทันสมัย มูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท

รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักถึงปัญหาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จึงได้จัดตั้งศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ เพื่อเป็นที่พำนักแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในระยะเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีความทุกข์ทรมาน รวมทั้งเพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยปรับตัวได้กับการสูญเสีย

โดยขณะนี้ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ได้ตั้งอยู่ ณ ที่ทำการชั่วคราว คณะพยาบาลศาสตร์ ชั้น 1 อาคารราชสุดา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเมื่อศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่ตรงนี้จะแปรสภาพเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยมีจุดมุ่งหมายคือ รวบรวมสมาชิกที่มีความสนใจในศาสตร์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาเป็นสมาชิกอย่างน้อย 5 ประเทศ จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการ สร้างงานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นศาสตร์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ศูนย์แห่งนี้ยังเป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยที่ทำงานร่วมกับศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เน้นในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองรวมทั้งครอบครัวผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ก็เพื่อเป็นประโยชน์กับนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมต่อไป

...คุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ การได้จากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ดังนั้น หลักการสำคัญที่ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะต้องทราบและทำความเข้าใจร่วมกันคือ การเรียนรู้และทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย มิใช่สิ่งที่ต่างคนต่างคิดว่าดี จนกลายเป็นความขัดแย้ง หากทำความเข้าใจร่วมกันในแนวทางข้างต้นได้ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์แห่งนี้จะเป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนได้ร่วมกันสร้างสุขสุดท้ายที่ปลายทางให้แก่ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ…