ทบทวนงานวิจัยของซุปไก่สกัดต่อสมองและร่างกาย

ทบทวนงานวิจัยของซุปไก่สกัดต่อสมองและร่างกาย

รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

ปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปมาก รวมทั้งด้านอาหารและโภชนาการ พบว่าแนวโน้มของการรับประทานอาหารมักจะตามแบบอาหารแบบตะวันตกซึ่งอุดมไปด้วยไขมัน น้ำตาล แป้ง และเกลือสูง ทำให้เสียสมดุลทางโภชนาการที่ดี นอกจากนี้ยังมีการดำเนินชีวิตที่มีความเครียดและมักขาดการออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทั้งหมดจึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ดังนั้น แนวทางการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและสมองด้วยอาหารและอาหารฟังก์ชันจึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน นับว่าเป็นการนำความรู้ทางโภชนาการ เทคโนโลยีอาหาร และความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้และพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีสำหรับการส่งเสริมสุขภาพ

อาหารฟังก์ชัน (Functional food) หมายถึง อาหารหรือสารอาหารชนิดใด ๆ ที่อยู่ในรูปธรรมชาติหรือที่ถูกแปรรูปไปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารที่รับประทานกันในชีวิตประจำวัน1 ประโยชน์ของอาหารฟังก์ชันก็คือ เป็นอาหารที่รับประทานร่วมกับมื้ออาหารได้ ไม่ใช่รับประทานในรูปของยา ซึ่งให้ผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรค เพิ่มภูมิต้านทาน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ สำหรับอาหารที่ถูกปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งอาหารที่ถูกเสริมด้วยสารพฤกษเคมีหรือสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าและคุณประโยชน์ให้แก่อาหาร ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทอาหารฟังก์ชันด้วยเช่นกัน 2

 

แท้ที่จริงแล้วอาหารฟังก์ชันอาจไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะในด้านศาสตร์ของอาหารเป็นยา เริ่มมีการกล่าวถึงมาตั้งแต่เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว โดยฮิปโปเครติส บิดาทางการแพทย์ของชาวกรีก ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “จงใช้อาหารเป็นยาในการรักษาโรค” ซึ่งกลายมาเป็นปรัชญาในการรักษาโรคในยุคต่อ ๆ มา หนึ่งในอาหารฟังก์ชันที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ซุปไก่สกัด โดยซุปไก่มีตำนานการใช้บำรุงสุขภาพอย่างกว้างขวางทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง แพทย์แผนตะวันออกชาวจีนได้เตรียมซุปไก่มาใช้เป็นอาหารบำรุงร่างกาย ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น บำรุงระบบภายในและช่วยให้ฟื้นตัวจากความอ่อนล้า ฟื้นฟูสุขภาพยามเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังมีการนำไก่ดำมาสกัดเป็นยาใช้บำรุงเลือดและบำรุงสมองอีกด้วย3 (Li, et al. 2012) ในด้านซีกโลกตะวันตกพบหลักฐานว่า ซุปไก่เปรียบเหมือน “เพนิซิลลินชาวยิว” ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีการรับประทานซุปไก่แก้หวัดอีกด้วย4

จากผลการวิเคราะห์พบว่าซุปไก่สกัดเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามิน และแร่ธาตุที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างเองได้ นอกจากนี้ซุปไก่สกัดยังมีส่วนประกอบสำคัญคือ “ไบโอ อะมิโน เปปไทด์ คอมเพล็กซ์” ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและสมองซึ่งมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับนานาชาติหลายฉบับรายงานถึงผลของซุปไก่สกัดกับการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยช่วยเพิ่มสมาธิ การเรียนรู้ และความจำ5,6,7,8,9 นอกจากนี้ยังมีผลต่อการช่วยฟื้นฟูร่างกายที่เกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญอาหารและการใช้พลังงาน10 ผลต่อการฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าหลังออกกำลังกาย11,12,13,14 รวมทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมและสารอาหารในน้ำนมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในมารดาหลังคลอดบุตรอีกด้วย15,16

 

ผลต่อการทำงานของสมอง

จากผลงานวิจัยของ Konagai, et al. (2013) โดยทำการศึกษาทางคลินิกแบบ Randomized double-blind crossover control ในกลุ่มอาสาสมัครชายและหญิงที่มีสุขภาพดีจำนวน 12 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมทั้งหมดจะได้รับซุปไก่สกัดและซุปไก่หลอก (โปรตีนสกัดจากนม) ทุกวันติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 วัน และให้ทำแบบทดสอบการทำงานของสมองชุดต่าง ๆ (Simple Reaction Task, Groton Maze Learning Test และ Working Memory Task) ทั้งก่อนและหลังการทดลอง โดยในระหว่างการทำแบบทดสอบจะได้รับการตรวจวัดปริมาณของออกซีฮีโมโกลบิน (Oxy-Hemoglobin) ที่บริเวณสมองส่วนหน้า (Prefrontal) ทั้งสองด้านด้วยเครื่อง Near-Infrared Spectroscopy (NIRS)5

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดมีการเพิ่มระดับของออกซีฮีโมโกลบิน (oxy-Hb) ซึ่งคือออกซิเจนที่จับกับฮีโมโกลบินในบริเวณสมองส่วนหน้าทั้งสองด้าน ในส่วนของซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดและความจำ (Cognitive function) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มที่ดื่มซุปไก่หลอก จึงกล่าวได้ว่าซุปไก่สกัดมีผลช่วยให้เลือดขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น จึงช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองในด้านการเรียนรู้และความจำ5

จากผลการศึกษาของ Azhar, et al. (2008) ได้ตีพิมพ์ผลงานศึกษาวิจัยผลของซุปไก่สกัดที่มีผลต่อภาวะเครียดและความจำในอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ทั้งชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 22-24 ปี จำนวน 69 คน โดยให้ดื่มซุปไก่สกัดซึ่งผลิตโดยนำไก่ไปสกัดด้วยไอน้ำที่ความดันและอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้ได้โปรตีนกรดอะมิโนและเปปไทด์ เช่น คาร์โนซีน จำนวนมากกว่าซุปไก่สกัดที่ตุ๋นเอง กระบวนการสกัดที่เป็นวิธีเฉพาะนี้เองที่ทำให้ซุปไก่สกัดมีเปปไทด์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและกรดอะมิโนที่ดูดซึมได้ทันที การทดลองจะให้นักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ที่มีความเครียดได้ดื่มซุปไก่สกัดเทียบกับซุปไก่หลอก (โปรตีนสกัดจากนม) ทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และทำการวัดผลเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะที่ทำการทดสอบ โดยใช้ชุดทดสอบ Digit span (เพื่อวัดสมาธิและความอดทนต่อความเครียด), Arithmetic (เพื่อวัดความวิตกกังวล) และ Letter number sequencing (เพื่อวัดความจำ) ร่วมกับเครื่อง Electro-encephalogram EEG (เพื่อวัดการทำงานของสมอง) วัดคลื่นสมองเทียบกันทั้งก่อนและหลังการทดลอง ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นมาตรฐานในการวัดความสามารถในการจดจำ ผลการทดลองพบว่านักศึกษาที่ดื่มซุปไก่สกัดจะมีความสามารถในการจดจำดีกว่าผู้ที่ดื่มซุปไก่หลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังดื่ม ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าซุปไก่สกัดมีผลทำให้ความสามารถในการจดจำดีขึ้น6

ผลงานวิจัยของ Benton and Young (2015) โดยทำการศึกษาทางคลินิกแบบ Randomized double-blind crossover control ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 147 คน พบว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 วัน สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ถูกต้องแม่นยำ ใช้เวลาในการคิดตัดสินใจได้เร็วขึ้น ความจำดีขึ้น และระดับของคอร์ติซอลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดื่มซุปไก่หลอก โดยพบว่าการเพิ่มขึ้นของคอร์ติซอลมีผลสัมพันธ์กับความจำที่ลดลง นอกจากนี้ในการศึกษาผลของซุปไก่สกัดกับอารมณ์พบว่า กลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดจะรู้สึกมีแรง กระปรี้กระเปร่า ซึ่งเป็นผลมาจากการลดความเหนื่อยล้าจากการใช้สมอง7

ผลการศึกษาวิจัยในญี่ปุ่นของ Yamano, et al. (2013) ถึงผลของซุปไก่สกัดในการช่วยให้สมองฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้า โดยทำการทดลองแบบ placebo-controlled crossover study ในอาสาสมัครผู้ชายที่มีสุขภาพดีจำนวน 20 คน โดยให้ดื่มซุปไก่สกัด หรือซุปไก่หลอกที่ทำจากเคซีนในนม หลังอาหารเช้าและเย็นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผู้ร่วมงานวิจัยถูกกำหนดให้ทำงานที่ต้องเรียนรู้จดจำ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด มีผลทำให้สมองเกิดความเหนื่อยล้า หลังจากนั้นให้ทำแบบทดสอบความจำ ผลการวิจัยพบว่า อาสาสมัครที่ได้รับซุปไก่สกัดมีอาการอ่อนเพลียลดลงและทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ดื่มซุปไก่หลอก จากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ซุปไก่สกัดที่ประกอบไปด้วย ไดเปปไทด์กลุ่ม carnosine และ anserine ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติที่พบในเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่ มีผลช่วยให้สมองฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าได้ เห็นได้จากประสิทธิภาพการทำงานของสมองในด้านการเรียนรู้จดจำที่ดีขึ้น8

ล่าสุดจากการวิจัยของ Chan, et al. (2016) พบว่าความเครียดจากการทำงานส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวล เหนื่อยล้าและหมดไฟ เมื่อมีความเครียดสะสมนาน ๆ ย่อมส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองโดยเฉพาะในส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความจำ จึงมีการศึกษาทางคลินิกแบบ Randomized double-blind control ในกลุ่มอาสาสมัครคนวัยทำงานที่มีอายุเฉลี่ยในช่วง 32-34 ปี ซึ่งมีภาวะเครียด จำนวน 102 คน โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มซุปไก่สกัด กลุ่มที่ 2 ให้ดื่มซุปไก่หลอก โดยให้ดื่มต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนการทดลอง หลังดื่ม 2 สัปดาห์และที่ 4 สัปดาห์ ทำการวัดผลโดยใช้แบบทดสอบการทำงานของสมองในส่วนของความจำด้านต่าง ๆ พบว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดจะทำคะแนนการทดสอบด้วยวิธี Form-color associative memory ซึ่งแสดงผลของความสามารถในการเรียนรู้และความจำระยะสั้นได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่มซุปไก่สกัด และเมื่อศึกษาถึงค่าการเปลี่ยนแปลงในเลือดพบว่าไม่พบการเปลี่ยนแปลงของค่าการทำงานของตับ (ACTH), คอร์ติซอล, เมลาโทนิน และระดับน้ำตาลในเลือด แต่มีผลเพิ่มระดับของ GPT (Glutamic-pyruvic transaminase), Creatinine และลดระดับของ BUN (Blood urea nitrogen) เล็กน้อย จากผลการทดลองทางคลินิกนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าซุปไก่สกัดมีผลช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้จดจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้นในกลุ่มคนวัยทำงานที่มีภาวะเครียด วิตกกังวลสูง9

 

ผลต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารและการใช้พลังงานในร่างกาย

ผลการศึกษาของ Geissler, et al. (1989) ทำการทดลองแบบ Placebo control ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีทั้งชายและหญิงจำนวน 20 คน โดยกลุ่มหนึ่งดื่มซุปไก่สกัดและอีกกลุ่มดื่มซุปไก่หลอกแล้ววัดอัตราการเผาผลาญสารอาหารเพื่อให้พลังงานทุก ๆ 15 นาที ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลคือค่าเฉลี่ยของการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายเพื่อให้พลังงานเพิ่มขึ้น 12% และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 15 นาทีแรก ซึ่งคณะผู้วิจัยได้สรุปว่า ค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่น่าเกิดจากปริมาณโปรตีนในซุปไก่สกัด เพราะซุปไก่สกัดมีค่าการให้พลังงานเพียง 30-40 กิโลแคลอรีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงควรจะต้องใช้สารอาหารที่มีค่าการให้พลังงานถึง 300-1,000 กิโลแคลอรีจึงจะมีการเพิ่มขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผลดังกล่าวอาจเกิดจากองค์ประกอบบางอย่างในซุปไก่สกัด เช่น เปปไทด์และกรดอะมิโนบางตัว หรืออาจเกิดจากการกระตุ้นในช่วงแรกของการเผาผลาญอาหารอันเนื่องมาจากรสชาติของซุปไก่สกัดเอง จึงกล่าวได้ว่าซุปไก่สกัดมีผลช่วยเพิ่มการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายเป็นพลังงาน จึงทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ความเหนื่อยล้าของร่างกายลดลง10

 

ผลต่อการฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าหลังออกกำลังกาย

ผลการศึกษาของ Lo, et al. (2005) ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบ Randomized double-blind crossover control ในกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกายจำนวน 12 คน โดยให้กลุ่มหนึ่งดื่มซุปไก่สกัดและอีกกลุ่มดื่มซุปไก่หลอกหลังการออกกำลังกาย ในการศึกษากำหนดให้มีการตรวจแลคเตทและแอมโมเนียในเลือดทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย และวัดค่าที่ 40, 60, 120 นาที ผลการศึกษาพบว่าหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนักต่อเนื่องโดยการวิ่งบนลู่เป็นเวลา 30 นาที และเพิ่มการออกกำลังกายไปจนถึงระดับที่มีการเต้นของหัวใจสูงสุดตามที่กำหนด ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญให้เกิดพลังงานจำพวกสารประกอบแอมโมเนียและแลคเตท ทำให้เกิดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อและร่างกาย11

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดมีอัตราการกำจัดแลคเตทในเลือดได้ถึง 72.7% หลังจากดื่มไป 60 นาที ซึ่งกำจัดได้มากกว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่หลอกอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลมาจากในซุปไก่สกัดประกอบไปด้วยเปปไทด์จำพวกคาร์โนซีนซึ่งมีคุณสมบัติช่วยปรับค่าความเป็นกรดที่เกิดขึ้นจากการสะสมของกรดแลคติก ซึ่งทำให้เกิดการยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ และยับยั้งการผลิต ATP มีผลทำให้ร่างกายขาดพลังงาน นอกจากนี้ซุปไก่สกัดยังช่วยให้ร่างกายกำจัดแอมโมเนียในเลือดได้เร็ว โดยเห็นผลการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ที่เวลา 40, 60 และ 120 นาทีหลังจากการดื่มเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ดื่มซุปไก่หลอก เพราะในซุปไก่สกัดอุดมไปด้วยกรดอะมิโนกลูตาเมทซึ่งมีบทบาทในกลไกการกำจัดแอมโมเนียให้ออกมาในรูปของยูเรียในช่วงของการฟื้นฟูร่างกาย จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าซุปไก่สกัดช่วยให้ร่างกายกำจัดของเสียจำพวกแอมโมเนียและแลคเตทที่เกิดขึ้นในระหว่างการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อล้าและตะคริวได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่แสดงถึงอาหารที่จะมีผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด มีผลต่อความทนทานและความสามารถในการออกกำลังกายอีกด้วย อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง คืออาหารที่เมื่อย่อยแล้วน้ำตาลจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว เพิ่มระดับอินซูลินได้เร็ว เช่น กลูโคส น้ำผึ้ง ส่วนอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ คืออาหารที่ค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและฮอร์โมนอินซูลิน เช่น กล้วย ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น การศึกษาพบว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด จะค่อย ๆ ปลดปล่อยพลังงานในร่างกาย และลดการใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน จึงทำให้รู้สึกไม่เหนื่อยง่าย12,13

ผลการศึกษาของ Soong, et al. (2015) ถึงผลของซุปไก่สกัดต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดและความไวในการตอบสนองของอินซูลินเมื่อรับประทานร่วมกับข้าวขัดขาว การวิจัยศึกษาในอาสาสมัครชายสุขภาพดี 16 คน ซึ่งได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของข้าวขัดขาวร่วมกับซุปไก่สกัด และทำการตรวจระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดในช่วงก่อนอาหารและทุก ๆ 15 นาทีในชั่วโมงแรก และทุก ๆ 30 นาทีหลังจากรับประทานข้าว ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานข้าวขัดขาวคู่กับซุปไก่สกัดที่ให้กรดอะมิโนมีผลช่วยลดระดับของน้ำตาลในเลือด ช่วยเพิ่มความไวในการตอบสนองของอินซูลินแต่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับอินซูลิน การศึกษานี้จึงเป็นการวิจัยแรกที่แสดงให้เห็นว่า ซุปไก่สกัดช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อรับประทานร่วมกับข้าวขัดขาวซึ่งเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง แต่เป็นอาหารหลักของคนเอเชียที่นิยมรับประทานกัน14

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยต่อเนื่องถึงผลของซุปไก่สกัดเมื่อรับประทานร่วมกับขนมปัง ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบ Randomized crossover control ในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 10 คน โดยให้กลุ่มหนึ่งรับประทานขนมปังและอีกกลุ่มดื่มซุปไก่สกัดคู่กับรับประทานขนมปัง แล้วศึกษาค่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ 15 นาที พบว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดคู่กับรับประทานขนมปังจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากการรับประทานขนมปังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มซุปไก่สกัด ซึ่งเป็นผลมาจากกรดอะมิโนและเปปไทด์ต่าง ๆ ที่อยู่ในซุปไก่สกัดนั้นมีผลช่วยควบคุมค่าน้ำตาลในเลือดเมื่อรับประทานร่วมกับอาหารที่ให้ค่าดัชนีน้ำตาลสูงอย่างเช่น ข้าวขัดขาว ขนมปัง ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมรับประทานมากในชาวเอเชีย14

 

ผลต่อการหลั่งนํ้านมในมารดาหลังคลอด

การศึกษาของ Li, et al. (1997) และคณะจากสถาบันวิจัยในประเทศจีน พบว่าซุปไก่สกัดสามารถกระตุ้นให้มารดาหลังคลอดสร้างน้ำนมได้เร็วขึ้น และปริมาณน้ำนมที่หลั่งออกมาในแต่ละครั้งมากขึ้น โดยทำการวิจัยทางคลินิกในสตรีหลังคลอดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซุนยัดเซน จำนวน 235 ราย โดยจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารหลังคลอดตามประเพณีนิยม กลุ่มที่ 2 ได้รับน้ำแกงสูตรกระตุ้นการหลั่งน้ำนมของโรงพยาบาลและอาหารหลังคลอด และกลุ่มที่ 3 ได้รับซุปไก่สกัดร่วมกับอาหารหลังคลอด ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 วัน มีการหลั่งน้ำนมในปริมาณที่สูงกว่าอีกทั้ง 2 กลุ่ม จึงอาจกล่าวได้ว่าซุปไก่สกัดช่วยฟื้นฟูสุขภาพ เร่งการสร้างน้ำนม และเพิ่มปริมาณน้ำนมของมารดาหลังคลอด15

และอีกหนึ่งการศึกษาของ Chao, et al. (2004) และคณะจากโรงพยาบาลแพทย์ไทเป ประเทศไต้หวัน พบว่าการดื่มซุปไก่สกัดช่วยเพิ่มระดับสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต และเสริมภูมิคุ้มกันในทารกที่ดื่มนมมารดา การทดลองนี้ทำโดยให้อาสาสมัครหญิงสุขภาพดีที่กำลังตั้งครรภ์จำนวน 30 คน ให้ดื่มซุปไก่สกัดครั้งละ 1 ขวด วันละ 3 ครั้ง ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยพบระดับของ lactoferrin, EGF และ TGF-β2 ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญในน้ำนมเพิ่มขึ้น16

 

สรุป

จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายคนที่สนใจได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพิสูจน์ผลของซุปไก่สกัดทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่มีความเชื่อถือมาช้านาน โดยอาจกล่าวสรุปในขณะนี้ได้ว่า ซุปไก่สกัดมีผลต่อการเพิ่มกระบวนการเผาผลาญอาหารและใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยช่วยเพิ่มสมาธิ การเรียนรู้ และความจำ ส่งผลให้การทำงานทางสรีรวิทยาของคนและสัตว์เป็นไปอย่างปกติ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมและผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียจำพวกแลคเตทและแอมโมเนียในเลือดที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายหลังการออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนเรามีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย จึงถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทั้งยังเป็นการถนอมสุขภาพจิตอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้อาหารฟังก์ชันไม่ใช่อาหารหลัก จึงไม่สามารถทดแทนอาหารหลักได้ แต่เป็นอาหารที่รับประทานเพื่อเสริมอาหารหลักที่อาจได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งช่วยในการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรปฏิบัติก็คือ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสม ครบทุกหมวดหมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อการส่งเสริมให้มีสุขภาพดีต่อไป

 

References

1.        Hasler CM, Bloch AS, Thomson CA, Enrione E, and Manning C, Position of The American Dietetic Association: Functional foods. J Am Diet Assoc. 2004;104(5):814-26.

2.        ชนิดา ปโชติการ, ศัลยา คงสมบูรณ์เวช และอภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์. 2557. อาหารกับสุขภาพ พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์เสริมมิตร: กรุงเทพฯ

3.  Li YF, He RR, Tsoi B, Kurihara H. Bioactivities of chicken essence. J Food Sci. 2012 Apr;77(4):R105-10.

4.        Rabbi Louis Jacobs, Maimonides (Rambam) and His Texts: The greatest medieval Jewish thinker, Talmudist and codifier. http://www.myjewishlearning.com/beliefs/Theology/Thinkers_and_Thought/Jewish_Philosophy/Philosophies/Medieval/Maimonides.shtml. [Online], 2 March 2016.

5.        Konagai C, Watanabe H, Abe K, Tsuruoka N, Koga Y. Effects of essence of chicken on cognitive brain function: a near-infrared spectroscopy study. Biosci Biotechnol Biochem. 2013;77(1):178-81.

6.        Azhar MZ, et al. Effect of taking chicken essence on cognitive functioning of normal stressed human volunteers. Mal J Med Health Sci. 2008;4(1):57-68.

7.        Benton D. and Young HA. The Effect of chicken essence on cognition and mood: A randomized controlled trial. Current Topics in Nutraceuticals Research. 2015;13(2):61-70.

8.       Yamano E, Tanaka M, Ishii A, Tsuruoka N, Abe K, Watanabe Y. Effects of chicken essence on recovery from mental fatigue in healthy males. Med Sci Monit. 2013 Jul 8;19:540-7.

9.        Chan L, et al. Effectiveness of essence of chicken in improving cognitive function in young people under work-related stress: A randomized double-blind trial; Medicine (Baltimore). 2016;95(19):e3640.

10. Geissler C, Boroumand-Naini M, Tomassen C. Large acute thermic response to chicken essence in humans. Nutr Rep Int. 1989;39(3):547-56.

11. Lo HI, Tsi D, Tan AC, Wang SW, Hsu MC. Effects of post-exercise supplementation of chicken essence on the elimination of exercise-induced plasma lactate and ammonia. Chin J Physiol. 2005 Dec 31;48(4):187-92.

12. กัลยา กิจบุญชู (2557). เพิ่มสมรรถภาพนักกีฬาด้วยโภชนาการ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์. เรื่องคาร์โบไฮเดรต สารอาหารให้พลังงานเร็ว หน้า 26-35.

13. Debra Wein. Glycemic Index for Athletes. NSCA’s Performance Training Journal. 2007;6(3):14-5.

14. Soong YY, et al. Effect of co-ingestion of amino acids with rice on glycaemic and insulinaemic response. British Journal of Nutrition. 2015 Dec 14;114(11):1845-51.

15. Li JH, et al. Effects of essence of chicken on postnatal lactation. Chin J of Pract Gynecol Obstet. 1997;13(5):295-296. (Article in Chinese)

16. Chao JC, et al. Chicken extract affects colostrum protein compositions in lactating women. J Nutr Biochem. 2004 Jan;15(1):37-44.