Ixazomib, Lenalidomide และ Dexamethasone สำหรับ Multiple Myeloma

Ixazomib, Lenalidomide และ Dexamethasone สำหรับ Multiple Myeloma

N Engl J Med 2016;374:1621-1634.

บทความเรื่อง Oral Ixazomib, Lenalidomide, and Dexamethasone for Multiple Myeloma รายงานว่า ixazomib เป็นยารับประทานในกลุ่ม proteasome inhibitor ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยสำหรับการรักษา multiple myeloma

จากการศึกษาวิจัยระยะที่ 3 แบบปกปิดข้อมูลทั้ง 2 ด้านเปรียบเทียบกับยาหลอกนี้ คณะผู้วิจัยได้สุ่มให้ผู้ป่วย 722 คนซึ่งมี multiple myeloma กลับเป็นขึ้นมาอีกครั้ง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือกลับเป็นขึ้นมาอีกและไม่ตอบสนองต่อการรักษา ได้รับการรักษาด้วย ixazomib ร่วมกับ lenalidomide และ dexamethasone (กลุ่ม ixazomib) หรือยาหลอกร่วมกับ lenalidomide และ dexamethasone (กลุ่มยาหลอก) โดยให้การรอดชีพโดยโรคสงบเป็นจุดยุติปฐมภูมิ

การรอดชีพโดยโรคสงบยาวนานกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม  ixazomib เทียบกับกลุ่มยาหลอกจากมัธยฐานการตรวจติดตาม 14.7 เดือน (มัธยฐานการรอดชีพโดยโรคสงบเท่ากับ 20.6 เดือน เทียบกับ 14.7 เดือน ค่า hazard ratio สำหรับการกำเริบหรือการเสียชีวิตในกลุ่ม ixazomib เท่ากับ 0.74; p = 0.01) โดยเห็นประโยชน์ด้านการรอดชีพโดยโรคสงบจากแบบแผนการรักษาด้วย ixazomib เทียบกับยาหลอกในทุกกลุ่มย่อยที่จำเพาะมาก่อน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อความผิดปกติทาง cytogenetic อัตราการตอบสนองโดยรวมเท่ากับ 78% ในกลุ่ม ixazomib และ 72% ในกลุ่มยาหลอก โดยมีอัตราการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ร่วมกับการตอบสนองบางส่วนที่ดีมากเท่ากับ 48% และ 39% มัธยฐานระยะที่เริ่มตอบสนองเท่ากับ 1.1 เดือนในกลุ่ม ixazomib และ 1.9 เดือนในกลุ่มยาหลอก และมัธยฐานระยะเวลาที่มีการตอบสนองเท่ากับ 20.5 เดือน และ 15.0 เดือน ที่มัธยฐานการตรวจติดตามประมาณ 23 เดือนพบว่า มัธยฐานการรอดชีพโดยรวมยังไม่ได้ผลลัพธ์ด้านมัธยฐานการรอดชีพโดยรวมในทั้ง 2 กลุ่ม และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจติดตาม อัตราของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงใกล้เคียงกับในทั้ง 2 กลุ่มศึกษาวิจัย (47% ในกลุ่ม ixazomib และ 49% ในกลุ่มยาหลอก) เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิตระหว่างการศึกษาวิจัย (4% และ 6% ตามลำดับ) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปพบใน 74% และ 69% ในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มตามลำดับ ระหว่างการศึกษาวิจัยพบ thrombocytopenia ระดับ 3 และ 4 บ่อยกว่าในกลุ่ม ixazomib (12% และ 7% ตามลำดับ) เทียบกับกลุ่มยาหลอก (5% และ 4% ของผู้ป่วยตามลำดับ)  มีรายงานการเกิดผื่นบ่อยกว่าในกลุ่ม ixazomib เทียบกับกลุ่มยาหลอก (36% เทียบกับ 23% ของผู้ป่วย) เช่นเดียวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของระบบทางเดินอาหารซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อุบัติการณ์ของปลายประสาทอักเสบเท่ากับ 27% ในกลุ่ม ixazomib และ 22% ในกลุ่มยาหลอก (เหตุการณ์ระดับ 3 พบใน 2% ของผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม) อนึ่ง ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกัน

การเพิ่มยา ixazomib ในแบบแผนการรักษาด้วย lenalidomide และ dexamethasone สัมพันธ์กับระยะการรอดชีพโดยโรคสงบที่นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นน้อย