ระยะเริ่มให้อาหารก่อภูมิแพ้ในทารกกินนมแม่

ระยะเริ่มให้อาหารก่อภูมิแพ้ในทารกกินนมแม่

N Engl J Med 2016;374:1733-1743.

บทความเรื่อง Randomized Trial of Introduction of Allergenic Foods in Breast-Fed Infants รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับอายุที่เหมาะสมสำหรับเริ่มให้อาหารก่อภูมิแพ้ในทารก คณะผู้วิจัยได้ประเมินว่าการเริ่มให้อาหารก่อภูมิแพ้โดยเร็วในอาหารสำหรับทารกกินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดอาการแพ้อาหารได้หรือไม่

คณะผู้วิจัยรวบรวมทารกจากกลุ่มประชากรทั่วไปซึ่งมีอายุ 3 เดือน และกินนมแม่อย่างเดียวจำนวน 1,303 คน โดยสุ่มให้ได้รับอาหารก่อภูมิแพ้ 6 ชนิดโดยเร็ว (กลุ่มเริ่มอาหารโดยเร็วซึ่งได้รับถั่วลิสง ไข่ นมวัว งา ปลาเนื้อขาว และแป้งสาลี) หรือเริ่มอาหารตามคำแนะนำที่ใช้ในสหราชอาณาจักรซึ่งแนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวไปจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน (กลุ่มเริ่มอาหารตามปกติ) ผลลัพธ์หลักได้แก่ อาการแพ้อาหารตั้งแต่ 1 ชนิดจากทั้ง 6 ชนิด ระหว่างอายุ 1-3 ปี

ในการวิเคราะห์ intention-to-treat analysis พบการเกิดอาการแพ้อาหารตั้งแต่ 1 ชนิดใน 7.1% ของอาสาสมัครในกลุ่มเริ่มอาหารตามปกติ (42 คน จาก 595 คน) และใน 5.6% ของอาสาสมัครในกลุ่มเริ่มอาหารโดยเร็ว (32 คน จาก 567 คน) (p = 0.32) ใน per-protocol analysis พบความชุกของการแพ้อาหารที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่เริ่มอาหารโดยเร็วเทียบกับกลุ่มที่เริ่มอาหารตามปกติ (2.4% เทียบกับ 7.3%; p = 0.01) เช่นเดียวกับความชุกของอาการแพ้ถั่วลิสง (0% เทียบกับ 2.5%; p = 0.003) และอาการแพ้ไข่ (1.4% เทียบกับ 5.5%; p = 0.009) โดยไม่พบผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญสำหรับนม งา ปลา และแป้งสาลี การรับประทานโปรตีนจากถั่วลิสงหรือไข่ขาวสัปดาห์ละ 2 กรัม สัมพันธ์กับความชุกที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญของอาการแพ้อาหารเทียบกับการรับประทานน้อยกว่า ทั้งนี้การเริ่มอาหารก่อภูมิแพ้ทั้ง 6 ชนิดทำได้ยากแต่มีความปลอดภัย

ผลลัพธ์ของการศึกษาวิจัยไม่ได้แสดงประสิทธิผลของการเริ่มอาหารก่อภูมิแพ้โดยเร็วในการวิเคราะห์ intention-to-treat analysis และนำมาสู่คำถามว่าการป้องกันอาการแพ้อาหารโดยการเริ่มอาหารก่อภูมิแพ้หลายชนิดโดยเร็วนั้นมีความสัมพันธ์ในลักษณะความสัมพันธ์ตามขนาดหรือไม่