พ.ท.นพ.ปานศิริ ไชยรังสฤษดิ์ กับการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เช็กภาวะ “แวริ่ง ออฟ” ยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนดสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันมักเกิดกับผู้สูงอายุราว 1% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีการประมาณการกันว่าจะมีจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศที่มีประชากรสูงสุด 9 อันดับแรกของโลก และในยุโรปอีก 5 ประเทศ รวมกันถึง 9 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม คนในช่วงอายุ 30-40 ปีที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วย ก็อาจพบว่ามีอาการของโรคพาร์กินสันได้เช่นกันแต่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อย ซึ่งโรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง โดยเฉพาะส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ถ้าปราศจากสารโดปามีนหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ เซลล์ประสาทบางส่วนในสมองก็จะสูญเสียการควบคุมการสั่งงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทของสมองบางส่วนผิดปกติที่ทำให้สารโดปามีนลดลง แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อนุมูลอิสระ อายุที่เพิ่มขึ้น สภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ และพันธุกรรม
พ.ท.นพ.ปานศิริ ไชยรังสฤษดิ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และประธานชมรมโรคพาร์กินสันไทย กล่าวถึงลักษณะอาการเด่นชัดที่พบบ่อยของโรคพาร์กินสันให้ฟังว่า อาการหลัก ๆ ของโรคพาร์กินสันจะมี 4 อย่างคือ 1. อาการสั่น โดยมักจะเริ่มต้นที่ข้างเดียวก่อน แต่เมื่อผู้ป่วยเป็นระยะท้าย ๆ หรือระยะมากขึ้นอาจจะมีอาการสั่นทั้ง 2 ข้างได้ 2. การเคลื่อนไหวช้าลง ไม่ว่าจะเป็นการขยับแขน ขยับขา การก้าวเดิน รวมถึงการคิดช้า พูดช้า 3. การแข็งเกร็ง จะรู้สึกเกร็งตามแขน ขา หรือลำตัวมีการแข็งเกร็งเคลื่อนไหวลำบากเหมือนมีข้อติดตลอดเวลา และ 4. การทรงตัวไม่ดี ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการหกล้มง่าย ลุกนั่งลำบาก การก้าวเดินสั้น ๆ ก้าวไม่ออก เวลาเดินจะเดินซอยเท้า รวมถึงรูปร่างผู้ป่วยจะเปลี่ยนไป ผู้ป่วยจะมีอาการหลังงอ หลังค่อม ทั้งหมดนี้เป็นอาการหลักของผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน แต่อย่างไรก็ดี โรคพาร์กินสันก็ยังมีอาการผิดปกติอย่างอื่นอีกหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวกับระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่เป็นอาการที่มีผลทางด้านความคิด อารมณ์ และความรู้สึก อาการที่พบได้บ่อย เช่น กระวนกระวาย เจ็บปวด อ่อนเพลีย หรืออาการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เหงื่อออก มีน้ำลายมาก อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง ท้องผูก
สำหรับการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันจะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายทางระบบประสาท แต่โดยทั่วไปจากการตรวจพบการสั่น การแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช้ากว่าปกติ ก็จะช่วยในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ทั้งนี้การตรวจทางห้องปฏิบัติการมักไม่ช่วยในการวินิจฉัย นอกจากการวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันหรือกลุ่มอาการพาร์กินสันที่พบในผู้ป่วยอายุน้อย
ทั้งนี้วิธีการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันก็มียาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาและสามารถช่วยให้อาการผิดปกติต่าง ๆ ดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถปฏิบัติงานได้ใกล้เคียงหรือตามปกติ นอกจากนี้การออกกำลังกายหรือการทำกายภาพบำบัดก็มีส่วนสำคัญในการรักษา โดยช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็ง ตลอดจนช่วยในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ
“หลักในการรักษามี 5 ข้อใหญ่ ๆ คือ 1. ให้ความรู้เรื่องโรคกับประชาชนและผู้ป่วย ตลอดจนญาติเพื่อจะได้ช่วยกันรักษา 2. ภาวะโภชนาการ 3. การรักษาด้วยยา 4.การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ รวมถึงการผ่าตัด 4. การออกกำลังกาย และ 5. การทำกายภาพบำบัด ซึ่งปัญหาในการรักษาโรคพาร์กินสันคือ เนื่องจากว่าโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่เราสามารถดูแลรักษาอาการให้หายไปหรือดีขึ้นได้ เพียงแต่ว่าจะไม่หายขาด เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการไป ทั้งนี้วิธีการรักษาโรคพาร์กินสันในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของแต่ละคน อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันค่อนข้างแพง แม้ว่ายาบางส่วนจะอยู่ในโครงการหลักประกันต่าง ๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากว่าโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่จะต้องดูแลไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา หรือการผ่าตัด จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง”
พ.ท.นพ.ปานศิริ กล่าวถึงปัญหาที่พบบ่อยในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันให้ฟังต่อว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันมาเป็นระยะเวลานาน หรือได้รับยารักษาโรคพาร์กินสันที่มีส่วนประกอบของยาลีโวโดปา (levodopa) ในขนาดสูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแวริ่ง ออฟ (wearing-off) คือ ภาวะยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาขนาดน้อยจะไม่เป็นแวริ่ง ออฟ ทั้งนี้เพราะว่าผู้ป่วยแม้จะได้รับยาในปริมาณน้อย แต่เมื่อได้รับยาไปนาน ๆ ผู้ป่วยก็จะเกิดภาวะแวริ่ง ออฟได้เช่นกัน จึงเห็นได้ว่าภาวะแวริ่ง ออฟเป็นภาวะที่จะต้องพบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกราย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดควรรู้จักและคอยระวัง เพื่อแจ้งแพทย์ให้มีการปรับเปลี่ยนยาเพื่ออาการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป เพราะการที่เราสามารถรู้ภาวะแวริ่ง ออฟของผู้ป่วยได้เร็ว เราก็สามารถรักษาผู้ป่วยได้เร็ว ผู้ป่วยก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ผลของภาวะแวริ่ง ออฟ ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพาร์กินสันตามเดิม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงคนดูแล ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเร็วขึ้น ซึ่งแต่เดิมการวินิจฉัยภาวะแวริ่ง ออฟ เราใช้แบบสอบถามโดยแพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้สอบถามหาภาวะแวริ่ง ออฟของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังเคยมีการศึกษาการหาภาวะแวริ่ง ออฟของผู้ป่วยโดยให้แพทย์เป็นผู้สอบถาม (clinical assignment) ภาวะแวริ่ง ออฟจากผู้ป่วย เปรียบเทียบกับการใช้แบบสอบถาม 32 ข้อ ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ผลออกมาพบว่า การให้แพทย์เป็นผู้สอบถามพบภาวะแวริ่ง ออฟประมาณ 30% แต่ถ้าใช้แบบสอบถามพบว่าเราสามารถสืบค้นภาวะแวริ่ง ออฟได้ถึง 57% ดังนั้น การใช้เครื่องมือช่วยคือแบบสอบถามจึงทำให้เราทราบถึงปัญหาของผู้ป่วยได้เร็ว และมากกว่าที่ผู้ป่วยมาตรวจตามปกติ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากแพทย์อาจมีเวลาจำกัดในการซักถาม การใช้แบบสอบถามจึงสะดวก รวดเร็ว และละเอียดกว่า”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแบบสอบถามมีจำนวนมากถึง 32 ข้อ ทำให้ต้องเสียเวลาในการประเมิน อีกทั้งต้องใช้เอกสารเป็นจำนวนหลายแผ่นทำให้เกิดความไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้ พ.ท.นพ.ปานศิริ จึงมีการนำแบบสอบถามที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงแบบและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ซึ่งเหลือเพียง 9 ข้อ และได้ทดสอบประสิทธิภาพความเที่ยงตรงจากแพทย์ด้านโรคพาร์กินสันหลาย ๆ ท่าน พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนสามารถพัฒนาการตรวจหาภาวะแวริ่ง ออฟให้ดียิ่งขึ้นต่อไป พ.ท.นพ.ปานศิริ จึงได้นำแบบทดสอบนี้มาพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น เช็กภาวะ “แวริ่ง ออฟ” เพื่อความสะดวก ง่าย ย่นระยะเวลาการถาม-ตอบ สามารถพกพาไปได้ทุกที่ อีกทั้งไม่เปลืองกระดาษ สามารถเก็บข้อมูลได้ทุกที่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นเฉพาะแค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือ คำพูดหรือข้อความง่าย ๆ ที่สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยให้เข้าใจมากกว่าแบบสอบถามที่ผ่านมา โดยสามารถใช้ได้ทั้งระบบ iOS และ Android สามารถดาวน์โหลดได้โดยเข้าไปที่ App Store แล้ว Search คำว่า THAI PDMDS
“จุดเริ่มต้นของการทำแอพพลิเคชั่นเกิดจากแบบสอบถามปกติที่เคยใช้ ซึ่งรู้สึกว่าเพียงแค่เราใช้แล้วยังรู้สึกงงได้ง่ายเลย ทั้งยังเคยได้พูดคุยกับแพทย์หลาย ๆ ท่าน ต่างมีความรู้สึกตรงกันว่าแบบสอบถามนี้ผู้ป่วยเข้าใจยาก แต่เนื่องจากแบบสอบถามนี้เป็นแบบทดสอบที่ดี ทำให้แพทย์สามารถค้นหาปัญหาภาวะแวริ่ง ออฟของผู้ป่วยได้ จึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้สามารถใช้ได้ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็นำมาใช้ได้ นั่นคือจุดประสงค์ที่เราทำแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำมาใช้ในกลุ่มแพทย์ระบบประสาทที่ดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดยในอนาคตก็อาจจะเผยแพร่ให้แก่อายุรแพทย์ทั่วไปนำไปใช้ได้ เพราะจริง ๆ แล้วจุดประสงค์ของการทำแอพพลิเคชั่นนี้คือ ต้องการให้ใช้เป็นเครื่องมือช่วยคุณหมอ เจ้าหน้าที่พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจปัญหาแวริ่ง ออฟของผู้ป่วย หรือยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด และต้องมีการประเมินผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่ทำการทดสอบควรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่เป็นแบบทดสอบที่ให้ผู้ป่วยประเมินผลด้วยตนเอง โดยมีวิธีการใช้ง่าย ๆ เพียงทำเครื่องหมายถูก 2 ช่องเพียงข้อเดียวจากบททดสอบทั้งหมด 9 ข้อ ก็ถือได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะแวริ่ง ออฟแล้ว และในขณะทำแบบสอบถามยังสามารถดูหรือฟังซ้ำได้อีกด้วย”
พ.ท.นพ.ปานศิริ กล่าวตอนท้ายว่า แอพพลิเคชั่นนี้เราได้มีการตรวจสอบความสะดวก ความเที่ยงตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำแอพพลิเคชั่นลองใช้ดู และให้คำแนะนำกลับมาว่าสามารถใช้ได้ง่ายและเข้าใจหรือไม่ เนื่องจากเราเป็นห่วงเรื่องของคำถาม-คำตอบที่จะใช้สื่อกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้มากที่สุด ทั้งคำพูดหรือเสียงพูดในแอพพลิเคชั่น เพื่อที่เราจะได้นำมาพัฒนาต่อไปในอนาคต
batman escort