อัตราการเสียชีวิตของชาวไทยบนท้องถนน

อัตราการเสียชีวิตของชาวไทยบนท้องถนน

            เมื่อฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ผมได้เขียนเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน สรุปได้ว่าคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย (Libya) เท่านั้น คือมีอัตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (ถ้าคิดจากประชากร 67 ล้านคน จะมีคนเสียชีวิต 24,254 คนต่อปี) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่เพียง 18 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก) และการเสียชีวิตของประชากรโลกมีถึงปีละ 1,250,000 คน และไม่ได้ลดลงเลยมาหลายปีแล้ว

            สาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตของคนไทยคือ โรคมะเร็ง ตามด้วยอุบัติเหตุและการเป็นพิษ อันดับ 3 คือ โรคหัวใจ คราวที่แล้วผมก็ได้พูดแล้วว่าสาเหตุหลัก ๆ ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็คือคน และสาเหตุย่อยต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในประเทศไทยและทั่วโลกก็คือ 1. ความเร็วของการขับรถ 2. การไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 3. การไม่สวมหมวกกันน็อกในการขับขี่จักรยานยนต์ 4. การเมาแอลกอฮอล์แล้วขับรถ 5. การไม่ใช้ “child restraint” ในกรณีที่มีเด็กนั่งอยู่ในรถด้วย รวมทั้ง 6. การใช้โทรศัพท์ระหว่างการขับรถ ไม่ว่าจะใช้มือจับโทรศัพท์หรือไม่ก็ตาม และ 7. การใช้ยาเสพติดและยาที่ไม่เสพติด รวมทั้งยาที่ทำให้ง่วงและความง่วงจากทุกสาเหตุ เช่น อดนอน เหนื่อย ฯลฯ

            รายละเอียดของข้อมูลในประเทศไทยคือ คนไทยจะเสียชีวิตบนท้องถนน 3 คนต่อทุกชั่วโมง บาดเจ็บ 200 คนต่อทุกชั่วโมง และต่อทุกชั่วโมงคนไทย 8 คนจะกลายเป็นคนพิการ การเสียชีวิตบนท้องถนน 82% มาจากรถจักรยานยนต์, 5% จากรถกระบะ, 4% จากคนใช้ถนน, 3% จากจักรยานหรือรถ 3 ล้อ, 2% จากรถเก๋ง, 1% จากรถบรรทุกหนัก ๆ, 1% จากรถขนผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ

            83% ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเป็นคนเดิน ผู้ถีบจักรยาน และผู้ใช้จักรยานยนต์  (49% ถ้าดูสถิติของโลก) อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรของโลกมีดังนี้

1. ลิเบีย 73.4  2. ไทย 36.2  3. มาลาวี 35  4. ไลบีเรีย 33.7  5. คองโก 33.2  6. แทนซาเนีย 32.9  7. แอฟริกากลาง 32.4  8. อิหร่าน 32.1  9. โมซัมบิก 31.6  10. โตโก 31.1

ถ้าเรามาดูกฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนจะพบว่ากฎหมายไทยดีอยู่แล้วพอสมควร แต่ยังต้องการการพัฒนาอีกหลายประเด็น เช่น เรื่อง speed หรือการขับรถเร็ว เรามีกฎหมายที่ดีพอสมควร แต่ควรปรับอยู่ 2 ประเด็นคือ ความเร็วของการขับรถในเมือง (urban) ควรต่ำกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในบางพื้นที่ควรให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพิจารณาปรับความเร็วให้เหมาะสมกับถนนต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เหมาะสมไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องการสวมหมวกกันน็อก เรามีกฎหมายที่ดีอยู่แล้วว่าผู้ขับและผู้โดยสารจะต้องสวมหมวกกันน็อก และต้องเป็นหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน แต่ปัจจุบันนี้มีประมาณ 50% เท่านั้นที่ใช้หมวกกันน็อกในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และน้อยกว่านั้นสำหรับผู้โดยสาร โดยไม่ได้มีการควบคุมดูแลกฎหมายนี้ให้มีความศักดิ์สิทธิ์เลย

ประเทศไทยมีกฎหมายให้ผู้ขับรถยนต์และผู้นั่งต้องรัดเข็มขัดนิรภัยแต่เฉพาะด้านหน้า เรายังไม่มีกฎหมายบังคับให้รัดเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง และเรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ child restraint ในรถ หรือกฎหมายที่ห้ามเด็กนั่งข้างหน้า  child restraint ต้องเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับอายุ ความสูง น้ำหนักของเด็กด้วย และข้อสุดท้ายคือ การที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วต้องไม่ขับรถ การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผ่านการเป่าลมหายใจ ในประเทศที่เจริญแล้วควรมีแอลกอฮอล์ในเลือดน้อยกว่า 0.05 มก.% โดยทั่ว ๆ ไป แต่ในเด็กหรือผู้ขับขี่รถที่ใหม่ควรให้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดน้อยกว่า 0.02 มก.% แต่ของไทยมีมาตรฐานเดียวคือ 0.05 มก.%

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ น้ำหนักตัว การดื่มแอลกอฮอล์มากแค่ไหน เร็วแค่ไหน ท้องว่างตอนดื่มหรือไม่ ฉะนั้นการที่ทางการจะบอกว่าดื่มได้ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ก่อนการขับรถเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ส่วนตัวผม ผมคิดว่าไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เลยก่อนการขับรถ อย่างเช่น ตามเกณฑ์เวชปฏิบัติของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพหรือทั่ว ๆ ไป ควรดื่มไม่เกิน 2 หน่วยต่อวัน ไม่ว่าหญิงหรือชาย การดื่มแค่นี้บางคนอาจยังทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่ผิดกฎหมาย แต่บางคนอาจผิดแล้ว แต่ทางด้านการแพทย์การดื่มแม้แต่นิดเดียวคือ 1 หน่วยเท่านั้นก็อาจทำให้สมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ (coordination sense) ร่วมกันเสียไปแล้ว ผมจึงแนะนำตลอดว่าถ้าดื่ม (ไม่ว่าน้อยแค่ไหนก็ไม่ควรขับรถ) 1 หน่วยของสหราชอาณาจักรคือ 25 ซีซีของวิสกี้ หรือไวน์ประมาณ 85 ซีซี หรือเบียร์ประมาณ 200 ซีซี

เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว และปรับปรุงแก้กฎหมายให้ดีขึ้นครับ