การได้รับยาระงับความรู้สึกหนึ่งครั้งก่อนอายุ 36 เดือน และผลลัพธ์ด้านระบบประสาทในวัยเด็กตอนปลาย

การได้รับยาระงับความรู้สึกหนึ่งครั้งก่อนอายุ 36 เดือน และผลลัพธ์ด้านระบบประสาทในวัยเด็กตอนปลาย

JAMA. 2016;315(21):2312-2320.

            บทความเรื่อง Association Between a Single General Anesthesia Exposure Before Age 36 Months and Neurocognitive Outcomes in Later Childhood รายงานว่า การได้รับยาระงับความรู้สึกที่ใช้กันแพร่หลายส่งผลให้เกิดพิษต่อระบบประสาทในสัตว์ทดลองอายุน้อย รวมถึงความบกพร่องด้านการทำงานของระบบประสาทและพฤติกรรมที่ผิดปกติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาผลลัพธ์ของยาระงับความรู้สึกต่อระบบประสาทและพฤติกรรมในเด็กเล็ก

            การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลว่า การได้รับยาระงับความรู้สึกหนึ่งครั้งในเด็กเล็กที่มีสุขภาพดีสัมพันธ์กับความบกพร่องด้านพัฒนาการระบบประสาทและพฤติกรรมผิดปกติในวัยเด็กตอนปลายหรือไม่

            การศึกษาวิจัยมีรูปแบบเป็นการศึกษาวิจัยแบบไปข้างหน้า ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2015 ในโรงพยาบาลเด็กระดับตติยภูมิ 4 แห่งในสหรัฐอเมริกา กลุ่มย่อยที่ศึกษาเป็นพี่น้องที่อายุไม่เกิน 36 เดือน และปัจจุบันอายุ 8-15 ปี พี่น้องที่ได้รับยาระงับความรู้สึกมีสุขภาพดีขณะผ่าตัด/ได้รับยาระงับความรู้สึก ผลลัพธ์ด้านระบบประสาทและพฤติกรรมประเมินแบบไปข้างหน้าตามข้อมูลประวัติการได้รับยาระงับความรู้สึก

            การศึกษาวิจัยประเมินผลจากการได้รับยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายหนึ่งครั้งจากการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบในกลุ่มพี่น้องที่ได้รับยาระงับความรู้สึก และจากพี่น้องที่ไม่ได้รับยาระงับความรู้สึกก่อนอายุ 36 เดือน              ผลลัพธ์หลักได้แก่ คะแนนสติปัญญาโดยรวม (ไอคิว) ผลลัพธ์รองได้แก่ การรับรู้ของระบบประสาทจำเพาะด้านและพฤติกรรม โดยประเมินไอคิวและการรับรู้ของระบบประสาทด้วยแบบทดสอบประสาทจิตวิทยา และให้พ่อแม่เป็นผู้กรอกข้อมูลพฤติกรรมของเด็ก

            จากพี่น้องทั้ง 105 คู่ พบว่าพี่น้องที่ได้รับยาระงับความรู้สึก (อายุเฉลี่ย 17.3 เดือนเมื่อผ่าตัด/ได้รับยาระงับความรู้สึก และ 95% เป็นผู้หญิง) และกลุ่มที่ไม่ได้รับยาระงับความรู้สึก (44% เป็นผู้หญิง) ได้รับการทดสอบไอคิวที่อายุเฉลี่ย 10.6 และ 10.9 ปี ตามลำดับ เด็กที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทั้งหมดได้รับยาระงับความรู้สึกชนิดสูดดม และระยะการให้ยาระงับความรู้สึกอยู่ระหว่าง 20-240 นาที โดยมีระยะเฉลี่ยเท่ากับ 80 นาที คะแนนเฉลี่ยของไอคิวระหว่างเด็กที่ได้รับยาระงับความรู้สึก (คะแนน full scale = 111; performance = 108; verbal = 111) และเด็กที่ไม่ได้รับยาระงับความรู้สึก (คะแนน full scale = 111; performance = 107; verbal = 111) ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนไอคิว ได้แก่ full scale = -0.2 (95% CI อยู่ระหว่าง -2.6 ถึง 2.9); performance = 0.5 (95% CI อยู่ระหว่าง -2.7 ถึง 3.7) และ verbal = -0.5 (95% CI อยู่ระหว่าง -3.2 ถึง 2.2) และไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติด้านคะแนนเฉลี่ยระหว่างพี่น้องด้านความจำ/การเรียนรู้ ความเร็วในการเคลื่อนไหว/ประมวลผล ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ สมาธิ ความสามารถด้านการจัดการ ภาษา หรือพฤติกรรม

            การได้รับยาระงับความรู้สึกหนึ่งครั้งก่อนอายุ 36 เดือนในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่สัมพันธ์กับความต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติด้านคะแนนไอคิวในวัยเด็กตอนปลายเมื่อเปรียบเทียบกับพี่น้องที่มีสุขภาพดีและไม่ได้รับยาระงับความรู้สึก ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการได้รับยาซ้ำ ได้รับเป็นเวลานาน และในกลุ่มย่อยที่มีความเปราะบาง