การขับโซเดียมต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

การขับโซเดียมต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

JAMA. 2016;315(20):2200-2210.

            บทความเรื่อง Sodium Excretion and the Risk of Cardiovascular Disease in Patients with Chronic Kidney Disease รายงานว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป โดยข้อมูลการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ยังคงขัดแย้งกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากอาหารและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่เคยมีการศึกษาในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาก่อน

            การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ และเหตุการณ์ทางคลินิกของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การศึกษามีรูปแบบเป็นการศึกษาวิจัยแบบไปข้างหน้าในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจาก 7 เขตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย Chronic Renal Insufficiency Cohort Study และตรวจติดตามตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2003 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2013   โดยประเมินค่าเฉลี่ยสะสมของการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะจากการตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมง 3 ครั้ง และสอบเทียบกับค่าเฉลี่ยปริมาณ creatinine ที่ขับออกทางปัสสาวะ 24 ชั่วโมงจำเพาะตามเพศ ผลลัพธ์หลักที่ศึกษา ได้แก่ เหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดประกอบด้วย หัวใจล้มเหลว สโตรค หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยติดตามรายงานทุก 6 เดือน และยืนยันจากเวชระเบียน

            จากอาสาสมัคร 3,757 ราย (อายุเฉลี่ย 58 ปี และ 45% เป็นผู้หญิง) พบเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดรวม 804 เหตุการณ์ (หัวใจล้มเหลว 575 เหตุการณ์ กล้ามเนื้อหัวใจตาย 305 เหตุการณ์ และสโตรค 148 เหตุการณ์) ระหว่างมัธยฐานการตรวจติดตาม 6.8 ปี จากควอไทล์ต่ำสุด (< 2,894 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) ถึงสูงสุด  (≥ 4,548 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) ของการเทียบการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะพบเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดขึ้น 174, 159, 198 และ 273 เหตุการณ์ โดยมีอุบัติการณ์สะสมเท่ากับ 18.4%, 16.5%, 20.6% และ 29.8% จากการตรวจติดตาม นอกจากนี้พบว่าอุบัติการณ์สะสมด้านเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในควอไทล์สูงสุดของการเทียบปริมาณโซเดียมที่ขับออกเปรียบเทียบกับควอไทล์ต่ำสุดเท่ากับ 23.2% เทียบกับ 13.3% สำหรับหัวใจล้มเหลว, 10.9% เทียบกับ 7.8% สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตาย และ 6.4% เทียบกับ 2.7% สำหรับสโตรคที่การตรวจติดตาม อัตราส่วนเสี่ยงภัยสำหรับควอไทล์สูงสุดเปรียบเทียบกับควอไทล์ต่ำสุดเท่ากับ  1.36 (95% CI อยู่ระหว่าง 1.09-1.70; p = 0.007) สำหรับเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด, 1.34 (95% CI อยู่ระหว่าง 1.03-1.74; p = 0.03) สำหรับหัวใจล้มเหลว และ 1.81 (95% CI อยู่ระหว่าง 1.08-3.02; p = 0.02) สำหรับสโตรคภายหลังการปรับพหุตัวแปร การวิเคราะห์ restricted cubic spline analyses ของความสัมพันธ์ระหว่างการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะและโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่พบความสัมพันธ์แบบไม่เป็นเชิงเส้น (p = 0.11) และชี้ว่ามีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้นที่มีนัยสำคัญ (p < 0.001)

            ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนี้ชี้ว่า ปริมาณการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะที่สูงสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

akseki escort