การสุ่มแบบปรับได้สำหรับการรักษาด้วย Veliparib-Carboplatin ในมะเร็งเต้านม
N Engl J Med 2016;375:23-34.
บทความเรื่อง Adaptive Randomization of Veliparib-Carboplatin Treatment in Breast Cancer รายงานว่า ความแตกต่างทางพันธุกรรมและคลินิกของมะเร็งเต้านมเป็นอุปสรรคต่อการระบุการรักษาที่มีประสิทธิผล คณะผู้วิจัยได้ออกแบบการศึกษา I-SPY 2 ซึ่งเป็นการศึกษาระยะที่ 2 ดำเนินการศึกษาในศูนย์วิจัยหลายแห่งด้วยวิธีสุ่มแบบปรับได้เพื่อคัดกรองแบบแผนการรักษาในขั้นทดลองสำหรับให้ร่วมกับเคมีบำบัดเสริมที่ใช้เป็นมาตรฐานในโรคมะเร็งเต้านม โดยมีเป้าหมายเพื่อจับคู่แบบแผนการรักษาขั้นทดลองกับชนิดย่อยของมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งในบทความนี้ได้รายงานผลลัพธ์สำหรับการรักษาด้วย veliparib poly(ADP-ribose) polymerase (PARP) inhibitor ร่วมกับ carboplatin
การศึกษาวิจัยซึ่งกำลังดำเนินอยู่มีเกณฑ์การคัดเลือกเข้าร่วมการศึกษาวิจัย ได้แก่ เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 หรือ 3 และก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 2.5 เซนติเมตร โดยจำแนกมะเร็งตามตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ 8 ชนิดย่อย ซึ่งประเมินจาก human epidermal growth factor receptor 2 (HER2), hormone receptors และ 70-gene assay ผู้ป่วยได้รับการสุ่มแบบปรับได้ในแต่ละกลุ่มชนิดย่อยเพื่อรับแบบแผนการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ดีกว่าการรักษามาตรฐานซึ่งประเมินภายใน 10 biomarker signatures (กลุ่มชนิดย่อยของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ) การรักษาด้วย veliparib-carboplatin ร่วมกับการรักษามาตรฐานได้พิจารณาสำหรับมะเร็งที่เป็น HER2-negative และได้ประเมินใน 3 signatures จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ การตอบสนองทางพยาธิวิทยาโดยสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงของก้อนมะเร็งประเมินจากการตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูง ระหว่างการรักษาได้นำมาใช้ทำนายว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนองทางพยาธิวิทยาโดยสมบูรณ์หรือไม่ แบบแผนการรักษาจะใช้ต่อไปหลังจากศึกษาระยะที่ 2 หากมีค่าการทำนายความน่าจะเป็น Bayesian ต่อผลสำเร็จของการรักษาเสริมในการศึกษาระยะที่ 3 ภายใน biomarker signature ที่แบบแผนการรักษานั้นได้ผลดี
ในมะเร็งเต้านมซึ่งมีผลเป็นลบจากการประเมินทั้ง 3 ชุด พบว่า veliparib-carboplatin มีค่าการทำนายความน่าจะเป็นของผลสำเร็จในการศึกษาระยะที่ 3 เท่ากับ 88% จากผู้ป่วยรวม 72 ราย ซึ่งสุ่มให้ได้รับ veliparib-carboplatin และ 44 รายซึ่งได้รับการรักษามาตรฐาน ซึ่งหลังจากสิ้นสุดการรักษาด้วยเคมีบำบัดพบว่า อัตราประมาณของการตอบสนองทางพยาธิวิทยาโดยสมบูรณ์ในประชากรที่มีผลเป็นลบทั้ง 3 ชุดเท่ากับ 51% (ช่วงความน่าจะเป็น [PI] 95% Bayesian ระหว่าง 36-66%) ในกลุ่มที่ได้รับ veliparib-carboplatin group เปรียบเทียบกับ 26% (95% PI ระหว่าง 9-43%) ในกลุ่มควบคุม โดยพบด้วยว่าความเป็นพิษในกลุ่มที่ได้รับ veliparib-carboplatin สูงกว่ากลุ่มควบคุม
กระบวนการที่ใช้ในการศึกษานี้ชี้ว่า การรักษาด้วย veliparib-carboplatin ร่วมกับการรักษามาตรฐานมีอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยาโดยสมบูรณ์ที่สูงกว่าการรักษามาตรฐานในมะเร็งเต้านมที่มีผลตรวจเป็นลบทั้ง 3 ชุด