ชาอู่หลง…ชาเพื่อสุขภาพ
รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่
คณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
จากกระแสคนรักสุขภาพ รับประทานอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพที่ดียังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมหรือวิตามินต่าง ๆ ที่บรรดาหนุ่ม ๆ สาว ๆ นิยมสรรหามารับประทานเพื่อเพิ่มความสวย และผิวพรรณกระจ่างใส ด้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็มาแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟชั่นการดื่มชาที่ผลิตออกมาขายในท้องตลาดก็มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาอู่หลง ชาดอกไม้ หรือชาผสมน้ำผึ้ง ที่ออกมาแข่งขันในเรื่องของสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภค
ชา (Camellia sinensis) เป็นพืชที่นิยมนำมาดื่มอย่างกว้างขวางทั่วโลกในรูปแบบเครื่องดื่มจากส่วนใบและยอดอ่อน ปัจจุบันชาที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องดื่มมีหลายประเภทด้วยกัน แตกต่างกันที่กระบวนการหมัก ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ชาอู่หลง ชาเขียว และชาดำ
เมื่อกล่าวถึงการดื่มชาที่กำลังเป็นแฟชั่นยอดนิยมในปัจจุบันนั้น รู้หรือไม่ว่านักวิจัยได้ค้นพบสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของ ชาอู่หลง ซึ่งมีส่วนประกอบที่ช่วยในการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งยังเป็นชาที่ดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง และการแก่ก่อนวัย
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานวิจัยพบว่า ชาอู่หลง ที่เป็นชาที่มีการผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วนไม่เกิน 20% หรือเรียกว่า กระบวนการกึ่งหมัก นอกจากจะทำให้ชามีกลิ่นหอมเฉพาะ อร่อย นุ่มละมุน และชุ่มคอแล้ว ยังสามารถรักษาองค์ประกอบทางเคมีได้ใกล้เคียงกับใบชาเขียว และกระบวนการหมักนี้ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเกิดสารใหม่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่เรียกว่า สารกลุ่มโพลิเมอไรซ์ โพลิฟีนอล หรือ โอทีพีพี (OTPP; Oolong Tea Polymerized Polyphenol) เป็นองค์ประกอบหลัก มีผลต่อการลดและควบคุมไขมันในเลือดในระดับสัตว์ทดลองและอาสาสมัครได้ โดยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปส ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ภายหลังจากรับประทานอาหาร ลดการดูดซึมไขมัน โดยทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น และเพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ นอกจากนี้มีการศึกษาผลของ OTPP ต่อระดับไตรกลีเซอไรด์หลังการรับประทานอาหารที่มีองค์ประกอบของไขมันสูง โดยให้อาสาสมัครดื่มชาอู่หลงที่มี OTPP เป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง วัดระดับไตรกลีเซอไรด์ที่เวลา 3 และ 5 ชั่วโมง พบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ได้รับตัวอย่างชาหลอก ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการดื่มชาอู่หลงซึ่งมีปริมาณ OTPP มากกว่าชาเขียวส่งผลในการเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาเขียวถึง 2 เท่า ทั้งที่ชาอู่หลงมีปริมาณคาเฟอีนและ epicatechin gallate เพียงครึ่งหนึ่งของชาเขียว มีการศึกษาผลข้างเคียงของการดื่มชาอู่หลงในระยะยาวนั้น ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้บริโภคแต่อย่างใด
นอกจากนี้ชาอู่หลงยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านริ้วรอยที่เกิดจากการสัมผัสรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต ความเครียด หรือมลภาวะต่าง ๆ ได้ อาจช่วยชะลอความชราได้
ปัจจุบันการดื่มชาอู่หลงจึงเป็นอีกทางเลือกของผู้รักสุขภาพและหนุ่มสาวยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการลดการดูดซึมไขมันและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งพบว่าปัจจุบันคนไทยมีปัญหาภาวะอ้วนและโรคอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขจากการสำรวจสภาวะสุขภาพของคนไทย คาดว่าปัจจุบันคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินจนถึงระดับอ้วนมากกว่า 17 ล้านคน และในแต่ละปีคนไทยจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากประชากรทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่สมดุล มีการบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกาย การออกกำลังกายน้อย กรรมพันธุ์ ช่วงอายุ และผลจากยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น
วิธีการป้องกันและรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้ผลดีอย่างยั่งยืนควรดูแลที่ต้นเหตุด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูง ควรดื่มชาอู่หลงเป็นประจำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาทางการแพทย์ เช่น การดูดไขมัน การผ่าตัดกระเพาะอาหาร การฝังเข็ม และการรับประทานยา เป็นต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่วนการใช้ยาลดความอ้วนพบว่ามีผลข้างเคียงทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งบางรายอันตรายถึงชีวิตดังที่เห็นในข่าวบ่อย ๆ ดังนั้น เพื่อความสวยปิ๊ง หุ่นเป๊ะ ดูสุขภาพดี และฟิตแอนด์เฟิร์มสไตล์หนุ่มสาวยุคใหม่อย่างยั่งยืน ต้องไม่ลืมออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะควบคู่กันไปด้วย
เอกสารอ้างอิง