โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันในผู้ใหญ่ (Acute Sinusitis in Adults)

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันในผู้ใหญ่ (Acute Sinusitis in Adults)

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช       

            โรคโพรงจมูก หรือไซนัสอักเสบ (sinusitis) เป็นการอักเสบที่เกิดในบริเวณจมูกและโพรงอากาศรอบจมูก (paranasal sinuses) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามระยะเวลาของการเกิดโรคคือ ชนิดเฉียบพลัน (acute) ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 4 สัปดาห์, ชนิดเรื้อรัง (chronic) ที่เกิดขึ้นอยู่นานกว่า 3 เดือนขึ้นไป และชนิดเกือบเรื้อรัง (subacute) ซึ่งมีระยะเวลาของการเกิดโรคอยู่ระหว่าง 4 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน

            สำหรับกรณีของโรคโพรงจมูก หรือไซนัสอักเสบอย่างเฉียบพลัน (acute sinusitis) นั้นในบางครั้งจะเรียกในชื่อ rhinosinusitis เนื่องจากมักจะมีการอักเสบเกิดขึ้นในโพรงจมูกร่วมด้วย สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส (พบได้ราวร้อยละ 90) ในจำนวนนี้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอยู่เพียงร้อยละ 0.5-2.0 เท่านั้น และถึงแม้ว่าโรคนี้จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่เสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความคาดหวังของผู้ป่วยที่คิดว่าควรได้รับยาปฏิชีวนะ และอีกส่วนหนึ่งเป็นจากการไม่ปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติที่ได้ระบุเอาไว้

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ

           ในแง่ของการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบนั้น มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประเด็น นั่นคือ

            1. การแยกโรคระหว่างโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน กับการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน (viral upper respiratory tract infection: vURI) และ

            2. การแยกสาเหตุระหว่างการติดเชื้อไวรัส กับแบคทีเรีย

            ผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบนั้นมักจะมีอาการเด่นเป็นอาการภายในจมูกและโพรงจมูก เช่น น้ำมูกหรือเสมหะเขียว คัดจมูก ปวดหรือรู้สึกแน่นบริเวณโพรงรอบจมูก ต่างจากผู้ป่วยที่เป็น vURI ที่มักจะมีอาการไอ เจ็บคอ หรือเสียงแหบร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันอาจมีอาการอยู่ได้นานถึงประมาณ 4 สัปดาห์ ในขณะที่ผู้ป่วย vURI มักจะมีอาการมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 วันแรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนกระทั่งหายสนิทได้ใน 7-10 วัน และมีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่จะมีอาการต่อไปอีกหลังจากนั้น และจะลดลงจากในระยะแรก

            ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียจะมีลักษณะอาการทางคลินิกที่บ่งชี้ ได้แก่ อาการผิดปกติที่ไม่ดีขึ้นเลยเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หรืออาจดีขึ้นในระยะแรก แต่กลับแย่ลงอีกครั้ง (เรียกว่า double-worsening pattern) การมีน้ำมูกหรือเสมหะเขียวนั้นอาจแสดงถึงโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจ plain paranasal sinus film หรือ computed tomography นั้นแม้จะสามารถนำไปวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้ แต่ไม่สามารถบอกชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุได้ และโดยมากแล้วจะพิจารณาส่งตรวจเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เช่น การติดเชื้อในเบ้าตา (orbital infection) หรือในสมอง (intracranial complications

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่