MDGs คือ Millennium Development Goals

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

MDGs

            MDGs คือ Millennium Development Goals หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Summit) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ 2543 (ค.ศ. 2000) ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 189 ประเทศ ได้ให้คำรับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดวาระการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคนและลดช่องว่างการพัฒนาให้เป็นจุดเริ่มต้นศตวรรษใหม่ โดยปฏิญญาดังกล่าวเป็นที่มาของเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันที่จะใช้เป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดกรอบระยะเวลาชัดเจนและวัดผลได้ในการต่อสู้กับความยากจน ความอดอยากหิวโหย การไม่รู้หนังสือ โรคภัยต่าง ๆ ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักการสำคัญคือ การแบ่งสรรความรับผิดชอบระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน

            เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษคือ เป้าหมาย 8 ประการที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติ 189 ประเทศ (รวมประเทศไทย) ตกลงยอมรับที่จะพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้ภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 8 ข้อ ดังนี้ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนและความหิวโหย เป้าหมายที่ 2 ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา เป้าหมายที่ 3 ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและส่งเสริมบทบาทสตรี เป้าหมายที่ 4 ลดอัตราการตายของเด็ก เป้าหมายที่ 5 พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ เป้าหมายที่ 6 ต่อสู้โรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่น ๆ  เป้าหมายที่ 7 รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในประชาคมโลก

            เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษกับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนกลางในการจัดทำรายงานผลการดำเนินการตามเป้าหมาย MDGs ของประเทศไทย โดย สศช. ได้จัดทำรายงานฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้นำเสนอผลการพัฒนาความก้าวหน้าและความท้าทายในการดำเนินงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย MDGs โดยไทยดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และได้บรรลุเป้าหมายด้านความยากจน ความหิวโหย ความไม่เท่าเทียมทางเพศ โรคเอดส์และมาลาเรีย ก่อนกำหนดเวลากว่า 10 ปี และใกล้บรรลุเป้าหมายด้านการศึกษา สำหรับรายงานผลฉบับที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2552 แสดงให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานฉบับปี พ.ศ. 2547 การดำเนินงานมีความก้าวหน้ามากขึ้นในบางเป้าหมาย อาทิ การให้กำลังแรงงานทั้งหมดรวมผู้หญิงและเยาวชนได้ทำงานที่มีคุณค่า การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาภายในปี พ.ศ. 2558/สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายภายในปี พ.ศ. 2558 การให้ทุกคนเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ภายในปี พ.ศ. 2558 และการให้ความสำคัญกับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดและร่วมมือกับบริษัทยาดำเนินการให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็น และการดำเนินงานสามารถรักษาระดับความก้าวหน้าได้ในบางเป้าหมาย อาทิ การลดสัดส่วนประชากรยากจนและประชากรหิวโหยลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2553-2558 การขจัดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2558 และการรักษาจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เส้นทางข้างหน้าจะเน้นไปที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในเรื่องการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และการลดความไม่เท่าเทียมกันทางโอกาสและกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งจะจัดให้มีกลไก/เครื่องมือสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย MDGs ผ่านการผนึกกำลังของหน่วยปฏิบัติเพื่อการขับเคลื่อน

            MDG+ คืออะไร ประเทศไทยได้เริ่มแนวคิด MDG Plus (MDG+) โดยมีเป้าหมายเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศและท้าทายยิ่งกว่า MDG โดย MDG+ แสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และแนวความคิดแบบ “เราทำได้” ของไทยในการพัฒนาคนและการต่อสู้กับความยากจน ตัวอย่างของ MDG+ อาทิ การลดความยากจนให้ต่ำกว่าร้อยละ 4 ภายในปี พ.ศ. 2552 การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นภายในปี พ.ศ. 2549 การเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภา องค์การบริหารส่วนตำบลและตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของราชการเป็นสองเท่าในช่วงปี พ.ศ. 2545-2549 การลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรวัยเจริญพันธุ์ให้เหลือร้อยละ 1 ภายในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้น

            แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงเป้า MDG ต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ แต่ในบาง MDG ในบางภาคหรือจังหวัดของประเทศเรายังมีอะไรต้องทำอีกมาก เช่น ใน MDG ที่ 5 “พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์” ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ผมต้องกล่าวนำเกี่ยวกับ MDGs ในวันนี้ เพื่อเป็นการปูพื้นให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในภาพรวมก่อนที่จะไปถึงแต่ละ MDG ซึ่งในโอกาสต่อไปผมจะนำข้อมูลมาเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบอีกครั้ง

 

takipçi satın al takipçi satın al takipçi satın al takipçi satın al spotify takipçi satın al takipçi satın al takipçi satın al