ผลลัพธ์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการปรับวิถีชีวิตในโรคเบาหวานชนิดที่ 2
N Engl J Med 2013;369:145-154.
บทความวิจัยเรื่อง Cardiovascular Effects of Intensive Lifestyle Intervention in Type 2 Diabetes: The Look AHEAD Research Group รายงานว่า การลดน้ำหนักเป็นที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งน้ำหนักเกินหรืออ้วนตามผลลัพธ์จากงานวิจัยระยะสั้น ขณะที่ผลลัพธ์ระยะยาวต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงไม่มีรายงาน นักวิจัยจึงศึกษาว่าการปรับวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัดเพื่อลดน้ำหนักจะช่วยลดการเจ็บป่วยและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยดังกล่าวหรือไม่
นักวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งน้ำหนักเกินหรืออ้วนจากโรงพยาบาลที่ศึกษาทั้ง 16 แห่งในสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมแผนการปรับวิถีชีวิตแบบเคร่งครัด ซึ่งส่งเสริมการลดน้ำหนักด้วยวิธีลดแคลอรีและเพิ่มการออกกำลังกาย (กลุ่มแทรกแซง) หรือได้รับคำแนะนำและการดูแลสำหรับโรคเบาหวาน (กลุ่มควบคุม) โดย primary outcome ได้แก่ ผลรวมของการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งไม่ถึงแก่ชีวิต สโตรคซึ่งไม่ถึงแก่ชีวิต หรือการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากเจ็บหน้าอกระหว่างการติดตามสูงสุด 13.5 ปี
การศึกษาสิ้นสุดลงก่อนกำหนดภายหลังการวิเคราะห์ประโยชน์เมื่อมัธยฐานการติดตามเท่ากับ 9.6 ปี การลดน้ำหนักทำได้ดีกว่าในกลุ่มแทรกแซงเทียบกับกลุ่มควบคุมตลอดการศึกษา (8.6% vs 0.7% ที่ 1 ปี; 6.0% vs 3.5% ที่สิ้นสุดการศึกษา) การปรับวิถีชีวิตแบบเคร่งครัดยังลด glycated hemoglobin ได้ดีกว่า ขณะเดียวกันก็ฟื้นฟูความแข็งแรงและปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมดได้ดีกว่า ยกเว้นระดับ low-density-lipoprotein cholesterol ทั้งนี้มีรายงาน primary outcome ในผู้ป่วย 403 รายในกลุ่มแทรกแซง และ 418 รายในกลุ่มควบคุม (1.83 และ 1.92 events per 100 person-years; hazard ratio ในกลุ่มแทรกแซงเท่ากับ 0.95; 95% confidence interval, 0.83-1.09; p = 0.51)
การปรับวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัดเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้ลดอัตราของเหตุการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่น้ำหนักเกินหรืออ้วนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2