โครงการบริการทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อผู้ด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ประกาศความสำเร็จร่วมกันในการเป็น “สถาบันพันธมิตร” ร่วมจัดกิจกรรมเปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย (ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย) “โครงการบริการทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อผู้ด้อยโอกาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย” โดยโครงการนี้จะเป็นช่องทางให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เป็นกรณีพิเศษ ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็ง ลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นับจากก้าวแรกในการลงนามสัญญาความร่วมมือในฐานะสถาบันพันธมิตร (Sister Institution) กับ MD Anderson Cancer Center มหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติ การแลกเปลี่ยนอาจารย์แพทย์และบุคลากรต่าง ๆ ในด้านการค้นคว้าวิจัยและข้อมูลวิชาการเพื่อพัฒนางานด้านป้องกันและรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการจัดประชุมวิชาการร่วมกัน ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือที่กล่าวมานี้มิได้จำกัดอยู่เพียงคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาอื่น ๆ ในประเทศไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านวิชาการ และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ดีขึ้นในระดับสากล
ในปีนี้การดำเนินความร่วมมือดังกล่าวได้พัฒนามาสู่การร่วมกัน จัดประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยา “2nd Joint Cancer Conference: Advance in Colorectal Cancer” ระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดยวันที่ 7 พฤศจิกายน เป็นการประชุมในเรื่อง Advance in Colorectal Cancer ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมวิทยาการที่ก้าวหน้าในด้านการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก MD Anderson Cancer Center ร่วมกับคณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศกว่า 300 คน วันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่อง Video Endoscopy Challenge in Gastrointestinal Malignancies ซึ่งเน้นวิทยาการความก้าวหน้าในการส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร ในวันที่ 9 พฤศจิกายน คณะผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ ได้นำคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก MD Anderson Cancer Center เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันเครือข่ายในด้านระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลสมเด็จบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และโรงพยาบาลชลบุรี และวันนี้ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินงาน โครงการบริการทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อผู้ด้อยโอกาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย 60 ปี โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ให้แก่ประชาชนจำนวน 284 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือในฐานะสถาบันพันธมิตร (Sister Institution) ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MD Anderson Cancer Center ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MD Anderson Cancer Center ได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจหลักในการสร้างประวัติศาสตร์ในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง
ด้าน รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เมื่อคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการคัดเลือกเป็นสถาบันแห่งแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เข้าร่วมเป็น “สถาบันพันธมิตร” กับสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน (MD Anderson Cancer Center) สถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งอันดับ 1 ของโลกจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Global Academic Program (GAP 2016) ซึ่งมีสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน จากสถาบันพันธมิตร 30 กว่าประเทศทั่วโลก ณ ประเทศบราซิล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา และล่าสุดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านวิชาการ มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคนิคใหม่ทางการแพทย์ในต่างแดน นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการจัดประชุมวิชาการเรื่องมะเร็งถุงน้ำดีในตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในวันที่ 17-18 มีนาคม พ.ศ. 2560 ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ 2. ด้านงานวิจัย ด้วยการร่วมทุนงานวิจัยมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งถุงน้ำดีในตับ ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้สูงที่สุดในโลก และโครงการวิจัยยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงยาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ทั้งเคมีบำบัดและยาปรับภูมิคุ้มกัน และ 3. ด้านการรักษา ได้มีการพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่ทันสมัย อาทิ เทคนิคการผ่าตัดเล็กด้วยหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีฉายแสงที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น
ด้าน ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ริเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาและตัดติ่งเนื้อได้ในทันที ซึ่งเป็นการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ด้วยเหตุนี้สถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน จึงเล็งเห็นศักยภาพของโรงพยาบาลที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ และได้จัดดำเนินการฝึกอบรมร่วมเพิ่มเติมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมพัฒนาการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยด้านโรคมะเร็งให้มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานของแพทย์จากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ศูนย์การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์ฯ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (EC) ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร แบ่งเป็น 7 ส่วน คือ 1. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) เป็นการส่องกล้องตรวจตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหารอยโรค สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยได้ และยังช่วยในการรักษาหยุดเลือดออก การตัดชิ้นเนื้องอกระยะแรก เป็นต้น 2. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ จากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น กรณีพบสิ่งผิดปกติจะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา รวมทั้งสามารถตัดชิ้นเนื้องอกในระยะแรกได้เกือบหมด ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัด 3. การส่องกล้องทางเดินน้ำดี และตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography: ERCP) เป็นการส่องตรวจและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อนส่วนปลายร่วมกับการถ่ายภาพรังสี ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและรักษาภาวะที่เรียกว่า ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน 4. การส่องกล้องอัลตราซาวนด์ (Endoscopic Ultrasonography: EUS) เป็นการส่องตรวจและรักษาท่อทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในท่อทางเดินน้ำดี รอยโรคในตับอ่อน เช่น ก้อนในตับอ่อน ถุงน้ำตับอ่อน และตับอ่อนอักเสบ และรอยโรคใต้ชั้นผิวในระบบทางเดินอาหาร โดยการใช้กล้องคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ระบบคลื่นเสียงความถี่สูงในการดูรอยโรค ทำหัตถการตามข้อบ่งชี้หรือความผิดปกติที่พบ เช่น การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ การใส่สายระบายทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อน 5. การส่องกล้องลำไส้เล็กด้วยกล้องลูกโป่งคู่ (Double Balloon Endoscopy: DBE) เป็นการตรวจลำไส้เล็กด้วยการสอดกล้องเข้าทางปาก และ/หรือ ทางทวารหนัก เพื่อวินิจฉัยโรคของลำไส้เล็กในผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออก ลำไส้อักเสบ หรือเนื้องอกของลำไส้เล็ก เป็นต้น 6. การตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน เป็นการตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนเพื่อวัดปริมาณไขมันและพังผืดในตับ และ 7. การตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดระดับกรดในหลอดอาหาร
นอกจากนี้ยังมีหัตถการพิเศษอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น POEM, ESD, LASOR ฯลฯ เป็นต้น โดยมีการให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ รวมถึงให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหารฉับพลัน (Emergency GI bleeding) ด้วยการส่องกล้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้นตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันนี้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ได้เปิดห้องตรวจการส่องกล้องที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จำนวน 9 ห้อง ห้องตรวจตับ 1 ห้อง ห้องตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร 1 ห้อง มีผู้ป่วยมารับบริการตรวจวันละประมาณ 40-50 รายต่อวัน และเพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในด้านการบริการผู้ป่วย ด้านการทำวิจัยและวิชาการ ได้มีการวางแนวทางสำหรับโครงการพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องการส่องกล้องทางเดินอาหาร และการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษในการส่องกล้องด้วย
“ไม่เพียงแค่แนวทางใหม่ ๆในการรักษาเท่านั้น เพราะพันธกิจที่เกิดขึ้นบนความร่วมมือระหว่างสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน (MD Anderson Cancer Center) นั่นคือ การปฏิบัติงานเชิงรุกด้วยการป้องกันโรค จึงเป็นที่มาของโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต แม้ “มะเร็ง” จะเป็นโรคร้ายแรงซึ่งมีความซับซ้อนในขั้นตอนของการรักษา แต่ด้วยความร่วมมืออันดีที่เกิดขึ้นกับสถาบันระดับโลก จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุดด้วยการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบอกลาจากโรคร้ายเพื่อกลับคืนสู่ครอบครัว สังคม และชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง”