Semaglutide และผลลัพธ์ด้านหัวใจและหลอดเลือดในเบาหวานชนิดที่ 2
N Engl J Med 2016;375:1834-1844.
บทความเรื่อง Semaglutide and Cardiovascular Outcomes in Patients with Type 2 Diabetes อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของยาใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลผลลัพธ์ด้านหัวใจและหลอดเลือดของ semaglutide ซึ่งเป็น glucagon-like peptide 1 analogue ที่มี extended half-life ประมาณ 1 สัปดาห์
คณะผู้ศึกษาวิจัยได้สุ่มให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 3,297 ราย ได้รับการรักษาด้วย semaglutide สัปดาห์ละครั้ง (0.5 มิลลิกรัม หรือ 1.0 มิลลิกรัม) หรือยาหลอกเป็นเวลา 104 สัปดาห์ ผลลัพธ์หลักได้แก่ การเกิดขึ้นครั้งแรกของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือสโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต โดยสันนิษฐานว่า semaglutide ไม่ด้อยกว่ายาหลอกเมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์หลัก โดยมี non-inferiority margin เท่ากับ 1.8 สำหรับขอบเขตบนของ 95% confidence interval ของ hazard ratio
ผู้ป่วย 2,735 ราย (ร้อยละ 83) มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง หรือทั้ง 2 อย่างที่พื้นฐาน ผลลัพธ์หลักเกิดขึ้นในผู้ป่วย 108 ราย จาก 1,648 ราย (ร้อยละ 6.6) ในกลุ่มที่ได้รับ semaglutide และ 146 รายจาก 1,649 ราย (ร้อยละ 8.9) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (hazard ratio เท่ากับ0.74; 95% confidence interval [CI] อยู่ระหว่าง 0.58-0.95; p < 0.001 สำหรับความไม่ด้อยกว่า) กล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นในร้อยละ 2.9 ของผู้ป่วยที่ได้รับ semaglutide และในร้อยละ 3.9 ของผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (hazard ratio เท่ากับ 0.74; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.51-1.08; p = 0.12) สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นในร้อยละ 1.6 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ (hazard ratio เท่ากับ 0.61; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.38-0.99; p = 0.04) อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดใกล้เคียงกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม อัตราการเกิดไตเสื่อมที่เพิ่งเป็นหรือรุนแรงขึ้นต่ำกว่าในกลุ่มที่ได้รับ semaglutide แต่อัตราของภาวะแทรกซ้อนจากจอตาเสื่อม (เลือดออกในวุ้นตา ตาบอด หรือภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย intravitreal agent หรือ photocoagulation) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (hazard ratio เท่ากับ 1.76; 95% CI อยู่ระหว่าง 1.11-2.78; p = 0.02) แม้เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเกิดขึ้นน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับ semaglutide แต่พบว่าอัตราการหยุดยาเนื่องจากผลข้างเคียงสูงกว่า โดยเฉพาะผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร
การศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดพบอัตราที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือสโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับ semaglutide เทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกอันเป็นผลลัพธ์ที่บ่งชี้ความไม่ด้อยกว่าของ semaglutide