Bezlotoxumab สำหรับป้องกันการติดเชื้อ C. difficile ซ้ำ
N Engl J Med 2017;376:305-317.
บทความเรื่อง Bezlotoxumab for Prevention of Recurrent Clostridium difficile Infection รายงานว่า เชื้อ Clostridium difficile เป็นเชื้อก่อโรคท้องร่วงที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล โดยมักพบการเป็นซ้ำภายหลังการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดย actoxumab และ bezlotoxumab เป็น human monoclonal antibodies ที่ออกฤทธิ์ต่อ C. difficile toxins A และ B ตามลำดับ
คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษา MODIFY I และ MODIFY II ซึ่งเป็นการศึกษาสุ่มเปรียบเทียบแบบปกปิดสองทาง ระยะที่ 3 ในผู้ใหญ่ 2,655 รายซึ่งได้รับยาปฏิชีวนะแบบยารับประทานตามมาตรฐานสำหรับการติดเชื้อ C. difficile ปฐมภูมิหรือเป็นซ้ำ อาสาสมัครได้รับ bezlotoxumab (10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม), actoxumab ร่วมกับ bezlotoxumab (อย่างละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) หรือยาหลอก โดยได้รับ actoxumab อย่างเดียว (10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) แบบยาหยดในการศึกษา MODIFY I และหยุดยาภายหลังการวิเคราะห์ระหว่างการวิจัย จุดยุติปฐมภูมิได้แก่ การติดเชื้อซ้ำ (ติดเชื้อใหม่ภายหลังรักษาหายแล้ว) ภายใน 12 สัปดาห์นับจากได้รับยาในประชากรกลุ่ม modified intention-to-treat population
จากทั้ง 2 การศึกษาพบว่า อัตราการติดเชื้อ C. difficile ซ้ำต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญจากการรักษาด้วย bezlotoxumab เทียบกับยาหลอก (MODIFY I: ร้อยละ 17 [67 รายจาก 386 ราย] vs ร้อยละ 28 [109 รายจาก 395 ราย]; ผลต่างที่ปรับแล้วเท่ากับ -10.1 percentage points; 95% CI -15.9 ถึง -4.3; p < 0.001; MODIFY II: ร้อยละ 16 [62 รายจาก 395 ราย] vs ร้อยละ 26 [97 รายจาก 378 ราย]; ผลต่างที่ปรับแล้วเท่ากับ -9.9 percentage points; 95% CI -15.5 ถึง -4.3; p < 0.001) และต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญจาก actoxumab ร่วมกับ bezlotoxumab เทียบกับยาหลอก (MODIFY I: ร้อยละ 16 [61 รายจาก 383 ราย] vs ร้อยละ 28 [109 รายจาก 395 ราย]; ผลต่างที่ปรับแล้วเท่ากับ -11.6 percentage points; 95% CI -17.4 ถึง -5.9; p < 0.001; MODIFY II: ร้อยละ 15 [58 รายจาก 390 ราย] vs ร้อยละ 26 [97 รายจาก 378 ราย]; ผลต่างที่ปรับแล้วเท่ากับ -10.7 percentage points; 95% CI -16.4 ถึง -5.1; p < 0.001) จากการวิเคราะห์กลุ่มย่อยที่กำหนดไว้ก่อน (รวมชุดข้อมูล) พบว่าอัตราการติดเชื้อซ้ำต่ำกว่าในทั้ง 2 กลุ่มที่ได้รับ bezlotoxumab เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในกลุ่มย่อยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อซ้ำหรือผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ อัตราการรักษาหายเท่ากับร้อยละ 80 จากการรักษาด้วย bezlotoxumab อย่างเดียว ร้อยละ 73 จาก actoxumab ร่วมกับ bezlotoxumab และร้อยละ 80 จากยาหลอก โดยมีอัตราการรักษาหายระยะยาว (การรักษาหายโดยไม่ติดเชื้อซ้ำภายใน 12 สัปดาห์) เท่ากับร้อยละ 64, 58 และ 54 ตามลำดับ อัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใกล้เคียงกันในทุกกลุ่ม เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด ได้แก่ ท้องร่วง และคลื่นไส้
จากการศึกษาในผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อ C. difficile ปฐมภูมิหรือเป็นซ้ำพบว่า bezlotoxumab สัมพันธ์กับอัตราที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญของการติดเชื้อซ้ำเมื่อเทียบกับยาหลอก โดยมีความปลอดภัยใกล้เคียงกับยาหลอก ขณะที่การเพิ่ม actoxumab ไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น