Closed-loop insulin ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
Lancet Diabetes Endocrinol 2017;5(2):117-124.
บทความเรื่อง Closed-loop Insulin Delivery in Inpatients with Type 2 Diabetes: A Randomized, Parallel-Group Trial รายงานผลการศึกษาด้วยวิธีสุ่มเปรียบเทียบกลุ่มคู่ขนานแบบเปิดเพื่อประเมินผลของ closed-loop insulin delivery (ตับอ่อนเทียม) ในแง่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ โดยเปรียบเทียบกับการฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งรักษาในหอผู้ป่วยทั่วไป
การศึกษาวิจัยได้รวบรวมผู้ป่วยอายุ 18 ปี หรือมากกว่าซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และได้รับการรักษาด้วยอินซูลินในหอผู้ป่วยทั่วไปของโรงพยาบาล Addenbrooke’s Hospital เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ผู้ป่วยได้รับ closed-loop insulin (ใช้ model-predictive control algorithm ฉีด insulin analogue ออกฤทธิ์เร็วใต้ผิวหนังโดยไม่มี meal-time insulin boluses) หรือฉีดอินซูลินใต้ผิวหนังตามแนวทางเวชปฏิบัติ ผลลัพธ์หลักได้แก่ เวลาที่ระดับน้ำตาลอยู่ในระดับ 5.6-10.0 มิลลิโมล/ลิตร ระหว่าง 72 ชั่วโมงของการศึกษา โดยวิเคราะห์แบบ intention-to-treat
คณะผู้ศึกษาวิจัยได้รวบรวมอาสาสมัคร 40 ราย และสุ่มเป็นกลุ่ม closed-loop intervention 20 ราย และกลุ่มควบคุม 20 ราย ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 ถึงวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2016 สัดส่วนระยะเวลาที่น้ำตาลอยู่ในพิสัยเป้าหมายเท่ากับร้อยละ 59.8 (SD 18.7) ในกลุ่ม closed-loop intervention และร้อยละ 38.1 (SD 16.7) ในกลุ่มควบคุม (ผลต่างร้อยละ 21.8 [95% CI 10.4-33.1]; p = 0.0004) จากการศึกษาไม่พบเหตุการณ์ของภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดที่รุนแรง หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับคีโตนในเลือดสูงเกิดขึ้นในทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งนี้มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ที่ศึกษาเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา 1 เหตุการณ์ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)
การให้ closed-loop insulin โดยไม่มี meal-time boluses มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งรักษาในหอผู้ป่วยทั่วไป