ฉายรังสีร่วมกับ Antiandrogen Therapy ในมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นซ้ำ
N Engl J Med 2017;376:417-428.
บทความเรื่อง Radiation with or without Antiandrogen Therapy in Recurrent Prostate Cancer รายงานว่า การฉายรังสี (salvage radiation therapy) มักจำเป็นในผู้ป่วยที่ตัดต่อมลูกหมากและพบการเป็นซ้ำของมะเร็งต่อมลูกหมากโดยประเมินจาก prostate-specific antigen (PSA) ที่สูงขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า antiandrogen therapy ร่วมกับการฉายรังสีจะช่วยให้ควบคุมมะเร็งได้ดีขึ้นและยืดการรอดชีพโดยรวมหรือไม่
คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาสุ่มเปรียบเทียบกับยาหลอกแบบปกปิดสองทางระหว่างปี ค.ศ. 1998-2003 โดยสุ่มให้ผู้ป่วย 760 รายซึ่งผ่าตัดต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลือง และเป็นมะเร็งระยะ T2 หรือ T3 ไม่มี nodal involvement และมีระดับ PSA ระหว่าง 0.2-0.4 นานาโกรัม/มิลลิลิตร ได้รับการฉายรังสีร่วมกับ antiandrogen therapy (ได้รับ bicalutamide 150 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 24 เดือน) หรือยาหลอกระหว่างการฉายรังสีและหลังการฉายรังสี จุดยุติปฐมภูมิได้แก่ อัตราการรอดชีพโดยรวม
มัธยฐานการตรวจติดตามในผู้ป่วยที่รอดชีวิตเท่ากับ 13 ปี อัตราการรอดชีพโดยรวมที่ 12 ปี เท่ากับร้อยละ 76.3 ในกลุ่มที่ได้รับ bicalutamide เทียบกับร้อยละ 71.3 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (hazard ratio สำหรับการเสียชีวิตเท่ากับ 0.77; 95% CI 0.59-0.99; p = 0.04) อุบัติการณ์ 12 ปีของการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากเท่ากับร้อยละ 5.8 ในกลุ่มที่ได้รับ bicalutamide เทียบกับร้อยละ 13.4 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p < 0.001) อุบัติการณ์รวมของมะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามที่ 12 ปี เท่ากับร้อยละ 14.5 ในกลุ่มที่ได้รับ bicalutamide เทียบกับร้อยละ 23.0 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p = 0.005) อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นภายหลังและสัมพันธ์กับการฉายรังสีพบใกล้เคียงกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม โดยมีรายงาน gynecomastia ในร้อยละ 69.7 ของผู้ป่วยที่ได้รับ bicalutamide เทียบกับร้อยละ 10.9 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p < 0.001)
การเพิ่ม antiandrogen therapy ด้วย bicalutamide วันละครั้งเป็นเวลา 24 เดือน ร่วมกับการฉายรังสีส่งผลให้อัตราการรอดชีพโดยรวมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับการฉายรังสีร่วมกับได้รับยาหลอก