มูลนิธิทาเคดาสนับสนุนแพทย์ไทยทุกสาขาคว้า “ทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดา” บินศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น
นับเป็นระยะเวลา 52 ปีแล้ว ที่มูลนิธิทาเคดาได้ให้การสนับสนุนแพทย์ไทยในการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไขของการใช้ทุนใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยอนุกรรมการพิจารณาทุนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกแพทย์ในทุกสาขาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ให้ได้รับทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดาเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบันมีแพทย์ไทยได้รับทุนทาเคดารวมแล้วทั้งสิ้น 195 ท่าน
ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทุนทาเคดาเป็นทุนที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวงการแพทย์ไทยและประเทศญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี และยังคงมีความสัมพันธ์อันดีอย่างต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะด้วยลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่น เมื่อมีมิตรภาพอันดีระหว่างกันแล้วก็จะรักษาไว้ให้คงอยู่ถาวรและยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เชิงงานวิจัย โดยคิดค้น วิจัยและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การที่ผู้ได้รับทุนได้เดินทางไปศึกษาดูงาน เมื่อกลับมาแล้วทุกคนจะไม่ได้เป็นแค่แพทย์ แต่ยังเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาวงการแพทย์และวงการสาธารณสุขต่อไป
สำหรับแพทยสมาคมฯ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาทุน แม้จะไม่สามารถหาทุนให้ทุกคนได้ทั้งหมด แต่แพทยสมาคมฯ ได้พยายามเติมในส่วนที่ขาด ในส่วนที่จำเป็น โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนภูมิภาคที่ยังขาดการสนับสนุน
“เราไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่ได้รับทุนจะต้องไปศึกษาดูงานเรื่องอะไร ระยะเวลานานเท่าไร สถานที่ใด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวของเขาเอง แต่ว่าเนื่องจากเป็นทุนของประเทศญี่ปุ่น จึงต้องไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาทุนยังคงเหมือนเดิมเช่นทุกปี และคาดหวังให้ผู้ที่ได้รับทุน เมื่อกลับมาแล้วสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” ศ.นพ.สารเนตร์ กล่าว
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานอนุกรรมการพิจารณาทุน กล่าวว่า มูลนิธิทาเคดาเริ่มมอบทุนให้แก่แพทย์ที่ต้องการจะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของแพทยสมาคมฯ ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกแพทย์ไทยที่มีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของแพทยสมาคมฯ เริ่มจากจำนวน 1 ทุน ขยายเป็น 6 ทุน ต่อเนื่องมาเป็น 8 ทุนในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็นทุน 3 เดือน จำนวน 4 ทุน ทุน 6 เดือน จำนวน 3 ทุน และทุน 1-2 ปี จำนวน 1 ทุน
“ในปีนี้มีแพทย์จากหลายสาขา หลายภูมิภาค ให้ความสนใจส่งใบสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละหัวข้อต่างก็มีความโดดเด่นและน่าสนใจทั้งสิ้น แต่หลังจากการคัดเลือกแล้ว ในที่สุดก็ได้ผู้เหมาะสมที่จะรับทุน โดยทางแพทยสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญกับแพทย์ในต่างจังหวัดซึ่งมีโอกาสเข้าถึงทุนได้ยากกว่าแพทย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยให้ได้รับการพิจารณาก่อน โดยในปีนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีแพทย์ที่ได้รับทุนมาจากต่างจังหวัดหลายท่าน เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จ.ยะลา รวมทั้งแพทย์จาก จ.ตาก และ จ.ราชบุรี ทางแพทยสมาคมฯ ยืนยันว่าจะยังคงสนับสนุนแพทย์จากต่างจังหวัดเหล่านี้ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงทุนวิจัยดี ๆ เช่นนี้ต่อไป” ศ.พญ.สมศรี กล่าว
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2559 ได้มีพิธีมอบทุนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2559 แพทยสมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก Mr.Gordon Cameron, Area Vice President Asia Pacific of Takeda Pharmaceuticals เป็นผู้มอบทุนให้แก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 8 ทุน ดังนี้
ทุนศึกษาวิจัยทาเคดาสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์ระยะยาว 12-24 เดือน (Young Basic Medical Research Fellowship) จำนวน 1 ทุน ได้แก่
1. นพ.ดลลชา วาณิชย์การ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศึกษาดูงานเรื่อง Laparoscopic Surgery, Oncourology, Jikei University, Tokyo, Japan
ทุนระยะสั้น 6 เดือน (Scholarship for Studying 6 months) จำนวน 3 ทุน ได้แก่
1. พญ.อ้อมใจ รัตนานนท์ สถาบันโรคทรวงอก ศึกษาดูงานเรื่อง Thoracic Surgery, National Cancer Center, Tsukiji Tokyo, Japan
2. พญ.อารีรัตน์ แก้วอนุชิต โรงพยาบาลนครปฐม ศึกษาดูงานเรื่อง Anesthesia in difficult and complex aortic surgery, Osaka University Hospital
3. นพ.พรชัย เสนารักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ศึกษาดูงานเรื่อง Visiting, observe at thoracic surgery and videoscopic technique, Cancer Institute Hospital, Tokyo, Japan
ทุนระยะสั้น 3 เดือน (Regular Scholarship for 3 months) จำนวน 4 ทุน ได้แก่
1. นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ โรงพยาบาลท่าสองยาง ศึกษาดูงานเรื่อง Long Term Care ANO Health Insurance, Yoichi Hospital, Hokkaido, Japan
2. พญ.สุดารัตน์ วิจิตรเศรษฐกุล โรงพยาบาลราชบุรี ศึกษาดูงานเรื่อง Center for medical education, Graduate School of Medicine, Kyoto University, Japan
3. พญ.กอบเกื้อ เลาหพจนารถ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ศึกษาดูงานเรื่อง Student in Glaucoma field in aspect of guideline of treatment in glaucoma diseases especially in Normotension Glaucoma, learning in new technology for diagnostic and treatment and how to create an interesting research, University of Tokyo, Japan
4. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ศึกษาดูงานเรื่อง Health and Peace: Psychosocial Support in Disaster Affected Areas, Teikyo Heisei University, Tokyo, Japan
แพทย์ผู้รับทุนเผยความรู้สึก
1. นพ.ดลลชา วาณิชย์การ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ทุนศึกษาวิจัยทาเคดาสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์ระยะยาว 12-24 เดือน)
“ผมเป็นแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ จึงเลือกไปศึกษาดูงานเรื่อง Laparoscopic Surgery เพื่อต่อยอดในเรื่องของการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งการผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ที่สนใจเรื่องนี้เพราะปัจจุบันโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะมีหลายโรค แต่โรคที่เริ่มพบมากขึ้นและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบันคือ โรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ จึงคิดว่าการไปครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองเพื่อนำความรู้กลับมาผ่าตัดรักษาผู้ป่วยให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้าไปมาก เราจึงต้องพยายามตามให้ทัน โดยเฉพาะเทคนิคการผ่าตัดที่ค่อนข้างละเอียดและได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดีมาก ๆ ต้องขอขอบคุณมูลนิธิทาเคดา และแพทยสมาคมฯ ที่ได้ให้ทุนผมในครั้งนี้ ผมจะตั้งใจศึกษาให้คุ้มกับทุนที่ได้ไป และขอฝากถึงแพทย์ที่สนใจให้สมัครกันเข้ามา ผู้ให้ทุนพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่”
2. พญ.อ้อมใจ รัตนานนท์ สถาบันโรคทรวงอก (ทุนระยะสั้น 6 เดือน)
“รู้สึกดีใจมากที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนในครั้งนี้ โดยจะไปศึกษาดูงานเรื่อง Thoracic Surgery เกี่ยวกับการผ่าตัดโรคปอด โดยเฉพาะเจาะจงลงไปทางด้านมะเร็งปอด ซึ่งที่สถาบันโรคทรวงอกมีปัญหาเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผ่าตัดมะเร็งปอดในบ้านเรายังล้าหลัง การที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในสถานที่ที่มีวิทยาการใหม่ ๆ มีความก้าวหน้าในเรื่องการผ่าตัดมะเร็งปอด ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้มาก แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีการนำการผ่าตัดส่องกล้องมาใช้แล้ว แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นล้ำหน้าไปกว่านั้น สามารถผ่าตัดมะเร็งก้อนเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถคลำด้วยมือด้วยเครื่องมือบางชนิด จึงอยากไปดูวิธีการผ่าตัดของเขาอย่างจริงจัง เพราะจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ถึง 80-90% ต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิทาเคดา และแพทยสมาคมฯ ที่ให้ทุนอันเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์มาก ๆ เพื่อนพี่น้องแพทย์ที่สนใจสามารถสมัครกันเข้ามาได้”
3. พญ.อารีรัตน์ แก้วอนุชิต โรงพยาบาลนครปฐม (ทุนระยะสั้น 6 เดือน)
“รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากกับโอกาสที่ทางมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ ได้มอบให้ ถือเป็นการได้พัฒนาตัวเองและเปิดโลกทัศน์ รวมทั้งได้กลับมาพัฒนาในบางจุดที่บ้านเราอาจจะยังสู้เขาไม่ได้ โดยจะไปศึกษาดูงานในเรื่องของ Anesthesia in difficult and complex aortic surgery ที่ Osaka University Hospital เพราะด้วยปริมาณเคสที่มากกว่า และวิวัฒนาการของเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ก้าวหน้ากว่าบ้านเรา การที่ได้ไปเรียนรู้จากเขา น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำกลับมาแชร์ต่อในกลุ่มงาน เพื่อพัฒนาระบบผ่าตัดและทีมแพทย์ผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น สำหรับแพทย์ที่สนใจทุนทาเคดา อย่างแรกต้องมีความตั้งใจ อยากจะพัฒนาตัวเอง เพราะถ้าเราไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง ก็คงจะพัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้นเป็นลำดับไม่ได้ ดังนั้น ถ้ามีความตั้งใจแต่ขาดทุนสนับสนุน ขอให้คิดถึงมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ”
4. นพ.พรชัย เสนารักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ทุนระยะสั้น 6 เดือน)
“รู้สึกยินดีที่ได้รับโอกาสที่จะได้ไปพัฒนาตัวเองและนำกลับมาพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น โดยจะไปศึกษาดูงานเรื่อง Visiting, observe at thoracic surgery and videoscopic technique ที่ Cancer Institute Hospital โตเกียว ซึ่งผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ไปดูงานในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านนี้อย่างประเทศญี่ปุ่น ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วขึ้น โดยหลังจากผ่านการศึกษาดูงาน เมื่อกลับมาจะนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างดีที่สุด อย่างน้อยต้องทำให้ได้เทียบเท่าหรือต้องดีกว่า อยากจะขอขอบคุณมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ ที่เปิดโอกาสที่ดีมาก ๆ และสำคัญมาก ๆ สำหรับการที่แพทย์คนหนึ่งจะพัฒนาตนเองหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หากแพทย์รุ่นต่อไปที่สนใจจะไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองและพัฒนาองค์กรของตนเองให้ดีขึ้น ทุนนี้ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี”
5. นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ โรงพยาบาลท่าสองยาง (ทุนระยะสั้น 3 เดือน)
“ต้องขอขอบคุณมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ ที่เปิดโอกาสให้แพทย์จากในพื้นที่ชนบทอย่างผมได้ไปศึกษาดูงาน โดยเลือกที่จะไปศึกษาดูงานเรื่อง Long Term Care ANO Health Insurance ที่ Yoichi Hospital ฮอกไกโด เนื่องจากในพื้นที่ท่าสองยางมีชาวเขาเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มนี้มีผู้สูงอายุและผู้พิการซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และต้องใช้วิธีการดูแลที่แตกต่างจากคนไทยพื้นราบ จึงคิดว่าหากได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการได้ดีอันดับต้น ๆ ของโลก จะสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในพื้นที่ ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็จะได้ใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปเรียนรู้ว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน มีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุอย่างไร รวมถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพให้คนอายุยืนและอยู่อย่างมีคุณภาพได้อย่างไร โดยจะนำมาต่อยอดในการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุภายในอำเภอให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น”
6. พญ.สุดารัตน์ วิจิตรเศรษฐกุล โรงพยาบาลราชบุรี (ทุนระยะสั้น 3 เดือน)
“รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับทุนนี้ เหมือนได้เป็นตัวแทนของอาจารย์แพทย์ไทยไปศึกษาดูงานทางด้าน Center for medical education, Graduate School of Medicine ที่ Kyoto University ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศญี่ปุ่นถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในเรื่องคุณภาพการศึกษา ในฐานะที่เป็นอาจารย์แพทย์จึงต้องไปดูว่าระบบการศึกษาของเขาทำอย่างไร จึงสามารถพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพได้ซึ่งถือเป็นเรื่องต้นน้ำในการผลิตแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชบุรีเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท การศึกษาดูงานในครั้งนี้จะได้นำความรู้ที่ได้มาผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถออกสู่สังคมไทยและไปพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของแพทย์แต่ละท่าน ซึ่งจะส่งต่อยอดไปถึงผู้ป่วย นำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขโดยรวม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศต่อไป ขอขอบคุณทางมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ ที่ให้โอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ”
7. พญ.กอบเกื้อ เลาหพจนารถ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า (ทุนระยะสั้น 3 เดือน)
“รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนนี้ โดยได้รับทุนไปศึกษาดูงานเรื่อง Student in Glaucoma field in aspect of guideline of treatment in glaucoma diseases especially in Normotension Glaucoma, learning in new technology for diagnostic and treatment and how to create an interesting research ที่ University of Tokyo ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีการศึกษาวิจัยทางด้านนี้มาอย่างยาวนาน มีความก้าวหน้าทางด้านวิชาการมากกว่าประเทศไทย โดยจะไปเรียนรู้ว่าเขามีการจัดการอย่างไรในเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าจะได้ความรู้ที่มีประโยชน์นำกลับมาปรับใช้กับโรงพยาบาลและประเทศไทย ขอขอบคุณมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ ที่เห็นถึงความสำคัญของแพทย์ตัวน้อย ๆ ในต่างจังหวัดให้ได้รับโอกาสดี ๆ ในการไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นขวัญและกำลังใจที่จะทำให้แพทย์ในต่างจังหวัดมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่นและเพื่อสังคมต่อไป”
8. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 (ทุนระยะสั้น 3 เดือน)
“ขอขอบคุณมูลนิธิทาเคดาและแพทยสมาคมฯ ที่ให้โอกาสแพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัด และน่าจะเป็นเพียงไม่กี่ทุนที่เปิดโอกาสให้คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยจะไปศึกษาดูงานเรื่อง Health and Peace: Psychosocial Support in Disaster Affected Areas ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญและชำนาญที่สุดในโลกก็ว่าได้ โดยเป็นงานเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น ระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่า หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ โดยจะไปดูในด้านการบริหารจัดการเพื่อนำกลับมาปรับใช้และต่อยอดในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซ้อมแผนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความสงบ จะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ไม่ตื่นตระหนกและอยู่ในระเบียบวินัย รวมทั้งจะใช้ชีวิตกันอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีประสบการณ์ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ และระเบิดนิวเคลียร์ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วสามารถบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ท้ายนี้ขอฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจทุนทาเคดา ถ้ามีความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองให้ลุล่วงก็น่าจะได้รับการพิจารณา”
คุณประภาพรรณ พรหมมาตร ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดูแลโครงการทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดาในประเทศไทย กล่าวถึงทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดา ดังนี้
บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจโดยยึดถือพันธกิจคือ “มุ่งมั่นเพื่อสุขภาพและอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิมสำหรับประชาชนผ่านนวัตกรรมชั้นนำด้านยา” ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการแพทย์ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อสาธารณสุขในประเทศไทย มุ่งประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ สร้างเสริมให้ประชาชนคนไทยได้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
การมอบทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดาเป็นลักษณะของทุนให้เปล่าที่ผู้รับทุนไม่ต้องมีภาระผูกพัน หรือกลับมาทำประโยชน์ใด ๆ ให้แก่บริษัท อีกทั้งบริษัทไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับทุนขององค์กรแต่ละแห่งที่ได้รับมอบหมายสิทธิ์สรรหานั้น ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องใน 7 ประเทศหลัก ได้แก่ ไต้หวัน จีน ไทย เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอื่น ๆ รวมกว่า 1,450 ท่านแล้วในปัจจุบัน โดยในการให้ทุนจะประกอบด้วยค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษาดูงานจนจบการศึกษา จึงอยากจะเชิญชวนแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมขอรับทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดา โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของแพทยสมาคมฯ
แพทย์ที่สนใจสมัครเข้ารับทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดา จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังนี้
1. เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมฯ* โดยสมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 1 ปี
2. ผู้สมัครขอรับทุนไม่จำเป็นต้องอยู่ต่างจังหวัด แต่ถ้าปฏิบัติงานอยู่ต่างจังหวัดจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยพิจารณาหัวข้อเรื่องที่ต้องการฝึกอบรมนั้นต้องให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม อีกทั้งเป็นงานที่มีประโยชน์กระจายไปทั่วประเทศ
3. ผู้สมัครต้องติดต่อสถาบันที่ต้องการจะไปฝึกอบรมและดูงาน ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ด้วยตนเอง และต้องได้รับจดหมายรับรองจากสถาบันนั้น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะต้องระบุระยะเวลาที่เข้าฝึกอบรมและดูงานในสถาบันนั้น ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนสมัครขอรับทุน
4. หลังจากสำเร็จการฝึกอบรมและดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว แพทยสมาคมฯ จะเรียนเชิญผู้รับทุนนำผลความก้าวหน้าที่ได้รับมาจากการฝึกอบรมมานำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปีของแพทยสมาคมฯ ในปีถัดไป
สมาชิกแพทยสมาคมฯ ท่านใดที่สนใจสมัครขอรับทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์ทาเคดา ติดต่อได้ที่
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เลขที่ 2 ซ.ศูนย์วิจัย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์ 0-2318-8170, 0-2314-4333 โทรสาร 0-2314-6305 E-mail: math@loxinfo.co.th, www.mat.or.th