Aspirin ขนาดต่ำสำหรับป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในเบาหวานชนิดที่ 2
Circulation. 2017;135:659-670.
บทความเรื่อง Low-Dose Aspirin for Primary Prevention of Cardiovascular Events in Patients with Type 2 Diabetes Mellitus: 10-Year Follow-Up of a Randomized Controlled Trial รายงานว่า ประสิทธิภาพและความปลอดภัยระยะยาวของ aspirin ขนาดต่ำสำหรับการป้องกันเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังมีข้อมูลไม่แน่ชัด จึงมีการศึกษา JPAD trial (Japanese Primary Prevention of Atherosclerosis with Aspirin for Diabetes) อันเป็นการศึกษาเปรียบเทียบผลของ aspirin ขนาดต่ำต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยชาวญี่ปุ่น 2,539 ราย ซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และไม่มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด
การศึกษา JPAD สุ่มให้ผู้ป่วยได้รับ aspirin (81 หรือ 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง; aspirin group) หรือไม่ได้รับ aspirin (no-aspirin group) หลังจากการศึกษาเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 2008 คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ติดตามผู้ป่วยจนถึงปี ค.ศ. 2015 โดยไม่พยายามเปลี่ยนการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับ จุดยุติปฐมภูมิได้แก่ เหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงการเสียชีวิตเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจทั้งที่ถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิต สโตรคที่ถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิต และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย การวิเคราะห์ความปลอดภัยได้รวมเหตุการณ์ของภาวะเลือดออก ได้แก่ เลือดออกในทางเดินอาหาร หลอดเลือดสมองแตก และเลือดออกที่อวัยวะอื่น การวิเคราะห์ปฐมภูมิได้วิเคราะห์เหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่ยังคงได้รับการรักษาเดิม (per-protocol cohort) และการวิเคราะห์ใน intention-to-treat cohort ได้วิเคราะห์สำหรับเหตุการณ์ของภาวะเลือดออกและความไวทางสถิติ
มัธยฐานระยะการติดตามเท่ากับ 10.3 ปี ผู้ป่วย 1,621 ราย (ร้อยละ 64) ได้รับการติดตามจนกระทั่งการศึกษาเสร็จสิ้นโดย 2,160 ราย (ร้อยละ 85) ยังคงได้รับการรักษาเดิม การรักษาด้วย aspirin ขนาดต่ำไม่ลดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดใน per-protocol cohort (hazard ratio เท่ากับ 1.14; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.91-1.42) ผลลัพธ์จากตัวแบบ multivariable Cox proportional hazard model ซึ่งปรับตามอายุ เพศ การควบคุมน้ำตาลในเลือด การทำงานของไต การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงใกล้เคียงกัน (hazard ratio เท่ากับ 1.04; 95% CI ระหว่าง 0.83-1.30) โดยไม่พบความต่างด้านประสิทธิภาพจากการวิเคราะห์กลุ่มย่อยซึ่งแบ่งกลุ่มตามปัจจัยแต่ละตัว (p > 0.05) และสอดคล้องกับผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ความไวใน intention-to-treat cohort (hazard ratio เท่ากับ 1.01; 95% CI ระหว่าง 0.82-1.25) ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารพบในผู้ป่วย 25 ราย (ร้อยละ 2) ในกลุ่มที่ได้รับ aspirin และ 12 ราย (ร้อยละ 0.9) ในกลุ่มที่ไม่ได้รับ aspirin (p = 0.03) อุบัติการณ์ของหลอดเลือดสมองแตกไม่ต่างกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม
การรักษาด้วย aspirin ขนาดต่ำสำหรับการป้องกันปฐมภูมิไม่มีผลต่อความเสี่ยงเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่เพิ่มความเสี่ยงเลือดออกในทางเดินอาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2