อ้วนกลมระทมไต

อ้วนกลมระทมไต

         ในปัจจุบันพบว่าเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป และมีภาวะเสี่ยงอ้วนลงพุงเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น จึงต้องมีการรณรงค์เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และหาวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสม

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันไตโลก (World Kidney Day) และจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้คำขวัญ “อ้วนกลมระทมไต” เพื่อกระตุ้นและเชิญชวนให้คนไทยรักสุขภาพ มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของตนเอง และห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุง  

รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติการณ์ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคไตในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยพบประมาณ 11 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของประชากร ในจำนวนดังกล่าวพบประมาณ 60,000 คนอยู่ในภาวะไตเรื้อรัง ทั้งยังมีอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตได้ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็มของคนไทยติดต่อกันเป็นเวลานาน

“โรคไตเรื้อรังแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะตามระดับความรุนแรง โดยในระยะที่ 5 ซึ่งมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 3 แสนบาท/คน/ปี เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไตตั้งแต่ในระยะต้น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหาร อาจจะช่วยป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตให้ไปถึงระยะสุดท้ายได้ช้าลง” รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว 

หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงได้มีนโยบายและการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases: NCDs) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงและพบได้ในทุกกลุ่มอายุทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคไตที่สถานการณ์ในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ไตเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะซึ่งมีหน้าที่สร้างปัสสาวะ โดยทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 4 ส่วน คือ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ไตเป็นอวัยวะที่ผลิตปัสสาวะจากการกรองเอาของเสีย น้ำ และเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือดที่ไหลผ่านไต ปัสสาวะเมื่อผลิตจากไตแล้วจะผ่านมาทางท่อไตไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อปริมาณปัสสาวะที่เก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะมาก พอรู้สึกปวดปัสสาวะเมื่อถึงเวลาที่ต้องการปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวและหูรูดของกระเพาะปัสสาวะจะเปิดออก ทำให้ปัสสาวะไหลผ่านท่อปัสสาวะออกสู่ภายนอก หน้าที่สำคัญของไตคือ การสร้างปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ และช่วยในการรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย นอกจากนั้นไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้น เมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย เพราะฉะนั้นไตจึงมีความสำคัญที่ต้องการให้คนไทยทุกคนรู้จักการถนอมไต โดยการลดรับประทานเค็มนั่นเอง

พญ.สุขฤทัย เลขยานนท์ อายุรแพทย์โรคไต ผู้แทนจากมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ในปัจจุบันได้พัฒนาการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตอย่างมาก มีการนำเอาวิทยาการ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ทันสมัยมาทำการรักษาผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่ามีการใช้เครื่องไตเทียมและการผ่าตัดเปลี่ยนไตแก่ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายเป็นอย่างดี สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยโรคไตเป็นการรักษาที่ต้องอาศัยเวลาและเงินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นคนยากจนแล้วย่อมมีปัญหาเป็นทวีคูณ แม้โรคไตจะมิใช่โรคที่จัดว่าเป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยเป็นโรคนี้มาก โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนได้พยายามให้การรักษาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากค่านิยมการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มเป็นประจำ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการรณรงค์ปรับค่านิยมในการลดการบริโภคเค็มกันต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น แต่รวมถึงทุกภาคในประเทศไทย  

สำหรับมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยพร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไต การรักษาผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนไต ทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อทำให้การรักษาและป้องกันโรคไตเป็นผลดียิ่งขึ้น นอกจากนี้มีการจัดสรรค่ารักษาพยาบาล ค่ายาให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ให้การสนับสนุนการผ่าตัดเปลี่ยนไต จัดตั้งหน่วยไตเทียมมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย 6 แห่ง และมีการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาลต่าง ๆ และเพิ่มเติมเครื่องไตเทียม รวมถึงการจัดตั้งหน่วยไตเทียมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา

.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยลดพุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงเป็นปัญหาระดับโลกและระดับชาติของประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว เชื่อว่าขณะนี้ทั่วโลกมีคนอ้วนมากกว่า 600 ล้านคน จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยเมื่อปี พ.ศ. 2557 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีปัญหาอ้วนร้อยละ 37.5 คิดเป็นคนอ้วนจำนวน 20.8 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านคนใน 5 ปีที่ผ่านมา (เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีคนไทยอ้วน 16 ล้านคน) ผู้หญิงอ้วนมีจำนวนมากกว่าผู้ชายอ้วน คนอ้วนหมายถึงคนที่มีดัชนีมวลกาย 25 kg/m2 ขึ้นไป คนอ้วนลงพุงคือคนที่มีรอบพุงมากกว่าความสูงหารด้วย 2 ซึ่งคนไทยร้อยละ 39.1 มีปัญหาอ้วนลงพุง สำหรับคนเอเชียดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 kg/m2 ขึ้นไปถือว่าอ้วนอันตราย

คนอ้วนทุกคนที่อ้วนมีพุงเรียกว่าอ้วนลงพุง แต่คนลงพุงบางคนไม่อ้วน อ้วนลงพุงคืออ้วนที่ทำให้เกิดปัญหา เป็นสื่อสัญญาณบอกว่าจะมีโรคหลาย ๆ โรคเกิดขึ้นในอนาคต คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มีการหยุดหายใจขณะหลับ โรคอื่น ๆ และโรคมะเร็งหลายชนิด เรียกกลุ่มโรคนี้ว่าโรคเรื้อรัง หรือเอ็นซีดี (NCD) ที่เห็นชัดคือ โรคเบาหวาน ในปี พ.ศ. 2552 มีคนไทยเป็นเบาหวาน 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านคนในปี พ.ศ. 2557

ไตเสื่อมที่เป็นมากขึ้นจนถึงไตวายมีสาเหตุมากมาย โรคเบาหวานเป็นสาเหตุอันดับ 1 และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าอ้วนลงพุงก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อม ไตวายได้ อ้วนลงพุงอาจเป็นสาเหตุนำที่ทำให้ไตเสื่อมแล้วมีสาเหตุอื่น ๆ ตามมาจนไตวาย หรืออ้วนลงพุงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคขึ้น แล้วโรคนั้น ๆ กระทบไต เกิดไตเสื่อมไตวาย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้อ้วนลงพุงยังทำให้เกิดโรคนิ่ว โรคมะเร็งไตได้ เซลล์ไขมันในคนอ้วนสร้างปัญหาจากฮอร์โมน adiponectin ของเซลล์ไขมันลดลง และปล่อยสารหลายชนิดออกมามากเกินจนรบกวนการทำงานของเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายทำให้เกิดโรคในที่สุด

คนอ้วนลงพุงน้ำหนักตัวมากในระดับอ้วนอันตราย มีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณเลือดไหลเวียนเข้าสู่ตัวกรองของไตมากขึ้น แรงดันในตัวกรองของไตสูงกว่าปกติ ถ้าเป็นอยู่นาน ๆ ไตจะเริ่มเสื่อม นอกจากนั้นไขมันที่มากเกินจะเข้าไปพอกพูนรอบไตและในอุ้งกรวยไต ในเซลล์ที่เป็นผนังของท่อที่ออกจากตัวกรองของไตอาจมีไขมันเข้าไปแทรกอยู่ทำให้การดูดซึมแลกเปลี่ยนเกลือแร่และสารบางชนิดผิดปกติ ซึ่งเสริมหรือเร่งการเสื่อมของไต การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ ปีจึงจะตรวจพบ แต่ถ้าอ้วนลงพุงทำให้เกิดโรคเบาหวาน และ/หรือความดันโลหิตสูง หากไม่รักษาหรือควบคุมไม่ได้ การเสื่อมของไตจะเกิดเร็วขึ้น และการเกิดไตวายอาจใช้เวลาสั้นลง

“ที่อยากเน้นคือ อ้วนและอ้วนลงพุงเกิดจากการกินอยู่ที่ขาดสมดุล สามารถแก้ไขป้องกันได้ หากอ้วนแล้วรีบลดน้ำหนักลงก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่กล่าวถึงทั้งหมด หรือชะลอไม่ให้เกิดโรคที่กระทบไตจนส่งผลให้ไตเสื่อม ไตวาย คนที่เป็นโรคแล้วต้องรักษาสุขภาพ ควบคุมโรคให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดไตเสื่อม ไตวาย”.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยจะต้องลดอาหารเค็มเพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (องค์การอนามัยโลกแนะนำบริโภคเกลือ 5 กรัม หรือโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) การรับประทานอาหารรสเค็มจัดจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนัก ก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

         ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับชาติ โดยในปัจจุบันผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็กเพิ่มสูงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงจนเป็นสาเหตุในเรื่องของภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นภัยเงียบรสเค็ม ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อย ๆ เสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด

         สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตควรปฏิบัติดังนี้ 1. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  2. ควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 mmHgและระดับน้ำตาลในเลือด  3. ควบคุมการรับประทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์  5. เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา และ 6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ด้านการทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำการรณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ให้ลดลง อีกทั้งยังต้องการให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยของการบริโภคเค็มซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งในทุก ๆ ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็มจะต้องนำงานวิจัยในโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อคนไทย รวมถึงผลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม นำมาเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับรู้ และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนัก ละหรือเลิก หันมาใส่ใจในการบริโภคเค็มให้น้อยลง

“ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแต่ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้จะมาพร้อมกับภาวะไตวาย จึงจำเป็นต้องได้รับการฟอกไต และในส่วนใหญ่แล้วประชาชนน้อยคนนักที่จะทราบว่าโรคไตนั้นมาพร้อมกับความอ้วน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป และมีภาวะเสี่ยงอ้วนลงพุงเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น จึงต้องมีการรณรงค์เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และหาวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสม” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว  

            ***แทรกรูป 8-11****

 

            ล่าสุดสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการบริโภครสเค็มของคนไทย จัดกิจกรรมวันไตโลก (World Kidney Day) และจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้คำขวัญ “อ้วนกลมระทมไต” เพื่อกระตุ้นและเชิญชวนให้คนไทยรักสุขภาพ มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของตนเอง และห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ณ Atrium Zone ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชประสงค์  

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคไต การเสวนาเรื่องโรคไตกับแพทย์โรคไต การตรวจสุขภาพเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต การเสวนาเรื่องแรงบันดาลใจในการหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการแสดงจากศิลปินและวงดนตรี พร้อมดาราจากไทยทีวีสีช่อง 3 ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง