วัคซีนไข้เลือดออก มิติใหม่ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
จากผลของความมุ่งมั่นและทุ่มเทโดยนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทั้งจากในประเทศไทยและทั่วโลกที่ได้ร่วมกันพัฒนาวิจัย จนในที่สุดก็สามารถค้นพบวัคซีนไข้เลือดออกชนิดแรกของโลกได้เป็นผลสำเร็จ
ในโอกาสนี้ บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด ได้จัดงานเปิดตัววัคซีนไข้เลือดออกอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมสัมมนาวิชาการ Dinner Talk เรื่อง “Perspective of dengue awareness and updated” ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กว่า 1,000 คน ซึ่งทุกท่านจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในก้าวสำคัญของนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งได้มาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเติมเต็มช่องว่างและสรรสร้างมิติใหม่ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
เริ่มต้นงานด้วยพิธีการเปิดตัววัคซีนไข้เลือดออกอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย และกล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน โดย Mr.Eric Mansion กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด
จากนั้น ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ปรมาจารย์ด้านไวรัสวิทยาของประเทศไทย ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการอย่างเป็นทางการ พร้อมเล่าถึงความเป็นมาของวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกนี้ ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่เริ่มต้นบุกเบิกพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยการวิจัยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ด้วยวิธีการทำให้เชื้อเด็งกีอ่อนฤทธิ์ลงเพื่อทำเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสเด็งกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ต่อมามีการนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปพัฒนาต่อจนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างในปี พ.ศ. 2552 โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศของเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนไข้เลือดออกต้นแบบ โดยเป็นการวิจัยร่วมของ 5 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
ก่อนเข้าสู่ช่วงการสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ โดยวิทยากรผู้ทรงเกียรติ ได้แก่ Dengue Epidemiology and Burden โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา, Dengue in adult: unpredictable severity and clinical outcome โดย ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร, Pool efficacy analysis of CYD-TDV dengue vaccine โดย ศ.พญ.อุษา ทิสยากร และ Integrated safety analysis from CYD-TDV trials โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับทราบข้อมูลทางด้านระบาดวิทยา ความรุนแรงของโรค ผลการรักษา ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน
ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย ซึ่งถ้าหากติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยสูงถึงแสนคน ในผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยในปี พ.ศ. 2559 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 63,310 ราย เสียชีวิต 57 ราย
สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยมาก สามารถป้องกันไวรัสเด็งกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ และมีการขึ้นทะเบียนนำไปใช้ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 โดยสามารถควบคุมการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 ลดการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80 ลดการเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงลงได้ร้อยละ 93 และจากผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่าสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้อย่างน้อย 6 ปี