สธ. เร่งออกประกาศ กำหนดค่าความปลอดภัยสารรมควัน
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายใน 2 ปีนี้จะยกเลิกการใช้สารเมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) รมควันข้าว เนื่องจากเป็นสารทำลายบรรยากาศ ไม่ได้ห้ามใช้เพราะความเป็นพิษ สารชนิดนี้มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว โดยจะให้ใช้สารฟอสฟีน (Phosphine) มาใช้รมควันแทน ซึ่งต้องใช้เวลาอบนานกว่า โดยกระทรวงสาธารณสุขจะปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดค่าตกค้างของสารรมควันในข้าวสารบรรจุถุงฉบับใหม่ อ้างอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ (Codex) จากเดิมกำหนดค่าเมทิลโบรไมด์ ตกค้างในธัญพืชไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารฟอสฟีนไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ (Codex) จะแก้ไขให้น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งได้ผ่านมติที่ประชุมของคณะกรรมการอาหารแล้ว โดยกำหนดให้ฟอสฟีน (ไฮโดรเจนฟอสไฟด์) มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร เมทิลโบรไมด์กำหนดให้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร (หรือสารโบรไมด์อิออนไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และฟลูออไรด์กำหนดให้ 0.1 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช โดยเร่งลงนามออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จที่จำหน่ายในท้องตลาดให้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ