แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน ไม่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ไทยสูญเงินรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน แนะ 5 มาตรการเร่งป้องกัน
จากผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยสูญเงินไปกับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไข้เลือดออกสูงมากถึง 290 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย1 ดังนั้น ในโอกาส “วันไข้เลือดออกอาเซียน” หรือ ASEAN Dengue Day สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย นำโดย ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย นำโดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ และ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย นำโดย ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร จึงร่วมกันรณรงค์ต้านภัยไข้เลือดออก ภายใต้แนวคิดหลัก United Fight Against Dengue ผลักดันให้เกิดการป้องกันไข้เลือดออกด้วยแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม หวังปลดล็อกคนไทยจากการป่วยและเสียชีวิต บรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ร่วมกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียนคือ ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50 และลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้อยละ 25 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563
ไม่มีไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่
ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราผู้ติดเชื้ออยู่ในช่วงอายุ 10-30 ปีเพิ่มมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า โรคนี้ผู้ใหญ่เป็นกันมากขึ้น โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งใน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีการดำรงของโรคไม่ต่างจากเด็ก แต่ความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นอาจมีปัจจัยมาจากการติดเชื้อหลายครั้งมาก่อน แต่อาจไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เองมักไม่รีบพบแพทย์ หายารับประทานเอง หรือแพทย์วินิจฉัยล่าช้าด้วยความเคยชินว่าเป็นโรคของเด็ก รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ดื่มเหล้าจนเป็นเหตุที่อาจทำให้เลือดออกมากที่ไตจนเสียชีวิตได้เมื่อเป็นไข้เลือดออก
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวถึงความรุนแรงของไข้เลือดออกนั้นไม่ได้เกิดจากการที่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมีร่างกายที่แข็งแรงมาก่อน บางครั้งมีแนวโน้มที่ร่างกายหรือภูมิต้านทานของร่างกายจะตอบโต้หรือมีปฏิกิริยาต่อเชื้อที่บุกรุกรุนแรงเท่านั้นเพื่อทำลายเชื้อไวรัส จนในบางครั้งการตอบสนองรุนแรงจนทำให้มีอาการและแสดงอาการที่รุนแรงได้
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคเฉียบพลัน ยังไม่มียารักษา
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยถือว่าต่ำที่สุดในย่านอาเซียนจากการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังคงเป็นโรคที่น่ากังวลและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากไข้เลือดออกเป็นโรคที่เฉียบพลัน ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกอาจรุนแรงกระทั่งเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน บางรายมีแต่อาการไข้ เพลียใน 2 วันแรก วันที่ 3-4 อาการเริ่มทรุดหนัก วันที่ 5-6 อาจจะรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ ปัจจุบันแม้จะมีโครงการวิจัยยาฆ่าเชื้อไวรัสเด็งกีขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในด้านยารักษาจำเพาะ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำในวันนี้คือ การป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหรือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ได้รับการจดทะเบียนใน 16 ประเทศแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยมีประสิทธิภาพป้องกันกว่าร้อยละ 65.6 ซึ่งหมายความว่า ในจำนวนคน 100 คนจะช่วยป้องกันโรคได้ 65 คน ส่วนที่อีก 35 คนยังอาจมีการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลงได้กว่าร้อยละ 90
จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นเพียงยอดน้ำแข็ง
ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวว่า แม้อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยน้อยกว่าที่อื่น ซึ่งนับว่าเป็นเพราะประเทศไทยมีการวางแนวทางดูแลรักษาและให้การดูแลผู้ป่วยได้ดี แต่ปัญหาการติดเชื้อนั้นใหญ่กว่าตัวเลขที่สะท้อนมาก ในปีหนึ่งประเทศไทยมีคนเป็นไข้เด็งกีและไข้เลือดออกราว 40,000-50,000 คน แต่ในความเป็นจริงพบว่าการติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่บางรายไม่มีอาการ ดังนั้น ในปีหนึ่ง ๆ อาจมีคนติดเชื้อราว 200,000 คน และในช่วงปีที่มีการระบาดที่มีรายงานมากกว่า 100,000 หรือ 200,000 คน แต่ความจริงแล้วมีคนติดเชื้อนี้อาจใกล้หลักล้าน และเราลืมไปว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการก็ถือเป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นด้วย หากคนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อและการแพร่ระบาดย่อมลดลงได้
นอกจากนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ภาวะโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การเดินทางของประชากร ล้วนมีส่วนทำให้การเกิดโรคมากขึ้น เพราะยุงมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง การปราบยุงและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงถือว่าเป็นการป้องกันที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ 100% เนื่องจากสารเคมีของยาที่พ่นจำเป็นต้องสัมผัสตัวยุง ยุงที่ซ่อนอยู่ในบ้านยังคงมีอยู่
5 มาตรการป้องกันไข้เลือดออก ไทยควรเร่งป้องกันอย่างถูกต้อง
สำหรับ 5 มาตรการในการป้องกันไข้เลือดออก ศ.พญ.อุษา เปิดเผยว่า ทวีปเอเชียมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 70 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50 และลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้อยละ 25 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีเท่านั้น ประเทศไทยควรพิจารณานำข้อควรปฏิบัติที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมาปฏิบัติให้ครบทั้ง 5 ประการ ซึ่งได้แก่ 1. การวินิจฉัยโรคให้เร็วและทำการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งประเทศไทยนับว่าทำได้ดี 2. จัดการระบบการเฝ้าระวังไวรัสไข้เลือดออกซึ่งมีแค่ 4 สายพันธุ์ 3. ทุกหน่วยงานต้องทำการควบคุมยุงที่บ้านและชุมชนของตนเอง 4. ถ้ามีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกระบาดมาก ควรนำมาใช้ป้องกันโรค และ 5. ต้องมีการเก็บข้อมูลและทำวิจัยต่อไปอีก เพื่อให้ทุกอย่างมีการพัฒนาต่อไป
“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะลดอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกลงได้ หากทุกคนร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ”
เอกสารอ้างอิง
Shepard DS, Undurraga EA, Halasa YA. Economic and disease burden of dengue in Southeast Asia. PLoS neglected tropical diseases. 2013;7(2):e2055.