ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโนแห่งเดียวในไทย

ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโนแห่งเดียวในไทย

         โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานในปี พ.ศ. 2555 ว่าประชากรโลกป่วยด้วยโรคมะเร็ง เป็นผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 14 ล้านคน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 8.2 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน ในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 100,000 คน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนมากกว่า 60,000 คน หรือเฉลี่ย 7 รายต่อชั่วโมง (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2558) ทำให้ประเทศไทยสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก

โรคมะเร็งเป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมเนื่องจากการกลายพันธุ์หรือมิวเตชั่น (mutation) ของยีน (gene) ในจีโนมมนุษย์ (human genome) ซึ่งอยู่ภายในนิวเคลียส (nucleus) ของเซลล์ (cell) ส่งผลให้เซลล์ปกติกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง การกลายพันธุ์ของเซลล์อาจจะเกิดขึ้นเองหรือถูกเร่งโดยสารก่อมะเร็ง (carcinogen) หากเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นจำนวนไม่มากจะถูกกำจัดไปโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจากการได้รับสารพิษ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด หรือผู้สูงอายุ เซลล์มะเร็งจะหลบหลีกการทำลายของระบบภูมิคุ้มกัน จึงแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนกลายเป็นก้อนหรือเนื้อมะเร็ง เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ และร่างกายอ่อนแอลง หากไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเสียชีวิตได้

การรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งวิธีมาตรฐานในปัจจุบันคือ การผ่าตัด การฉายรังสี และยาเคมีบำบัด แม้ว่าจะได้ผลดีในผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น ในระยะที่โรคลุกลามมากขึ้น อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการรักษายังอยู่ในระดับต่ำ และมีอัตราการกลับมาเป็นโรคซ้ำสูง นอกจากนี้โรคมะเร็งส่วนใหญ่ยังดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทำให้ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งในระยะที่โรคลุกลามยังได้ผลไม่ดี จึงมีความจำเป็นจะต้องทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาวิธีรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

            ในฐานะโรงเรียนแพทย์หนึ่งในสถาบันหลักที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย เมื่อไม่นานมานี้ .ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “แห่งเดียวในไทย...ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน” ร่วมกับ รศ.นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา, ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี หัวหน้าสาขาวิชารังสีวินิจฉัย, อ.นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ สาขาวิชารังสีวินิจฉัย และทีมแพทย์สหสาขาวิชาร่วมด้วย ณ ห้อง C203 ชั้น 2 อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช

         ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการรักษาผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย ทุกเศรษฐานะ โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาสซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ด้วยโรคที่หลากหลาย ตั้งแต่โรคขั้นพื้นฐานไปจนถึงโรคที่ซับซ้อน รักษายาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้หายจากโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข โดยไม่เป็นภาระแก่สังคม ซึ่งโรคบางโรคมีความจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าทันสมัยมาใช้รักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในการตัดเนื้อตับ หรือเนื้องอกในตับก็ตาม ล่าสุดมีการนำนวัตกรรมมีดนาโนมาใช้รักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะมะเร็งตับและตับอ่อน ซึ่งใช้รักษามา 3 ปี เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ผลการรักษาดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนว่า นอกจากโรคมะเร็งตับและตับอ่อน ยังมีโรคมะเร็งชนิดอื่นที่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่

ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี หัวหน้าสาขาวิชารังสีวินิจฉัย กล่าวว่า โรคมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของคนไทย ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งตับมีหลายวิธี ขึ้นกับระยะของโรค โดยมีทีมแพทย์       สหสาขาวิชาชีพร่วมดูแล ได้แก่ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ ตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย การรักษามะเร็งตับที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัด แต่ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา (interventional radiology) ได้แก่ การจี้ก้อนเนื้องอกเฉพาะจุด (tumor ablation) การให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (transarterial chemoembolization: TACE) เป็นต้น 

สำหรับการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มที่ให้ความร้อน ปัจจุบันเทคโนโลยีที่นิยมใช้คือ การให้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (radiofrequency ablation: RFA) และการให้ความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟ (microwave ablation) วิธีนี้เหมาะกับก้อนเนื้องอกที่มีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร ซึ่งได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง

            อย่างไรก็ตาม การจี้ก้อนเนื้องอกโดยการใช้เข็มให้ความร้อนยังมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถรักษาเนื้องอกได้ในทุกตำแหน่ง ดังนั้น จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้น เรียกว่า การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน (Nanoknife®) ที่สามารถลดข้อจำกัดในการรักษาก้อนเนื้องอกเฉพาะจุดในตำแหน่งต่าง ๆ

.นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ สาขาวิชารังสีวินิจฉัย กล่าวถึงการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน (Nanoknife®) หรือไฟฟ้าความต่างศักย์สูง (irreversible electroporation: IRE) ว่า เป็นการจี้ก้อนเนื้องอกโดยใช้เข็มอย่างน้อย 2 เล่ม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็ก (nanopores) จำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เกิดการตายแบบธรรมชาติ (apoptosis) โดยเกิดความร้อนออกมาทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อยมาก

“การรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มให้ความร้อนแบบเดิม มีข้อจำกัดในก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดหรือทางเดินน้ำดี เพราะความร้อนที่ใช้สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่หลอดเลือดหรือท่อน้ำดีได้ รวมทั้งอาจเกิดการพัดพาความร้อนออกจากก้อนเนื้องอก เนื่องจากเลือดที่ไหลผ่าน (heat-sink effect) ทำให้ก้อนเนื้องอกบริเวณที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดไม่ได้รับความร้อนที่สูงพอ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดเนื้องอกกลับเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมได้ (recurrent tumor) ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีของมีดนาโนที่ใช้กระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงแทนการใช้ความร้อนจึงไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดหรือท่อน้ำดีข้างเคียง และไม่ได้รับผลกระทบจากการพัดพาความร้อนออก”

            ปัจจุบันการรักษาด้วยมีดนาโนถูกนำมาใช้รักษามะเร็งตับที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดหรือท่อน้ำดีได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งใช้ในการรักษามะเร็งตับอ่อนซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำการรักษาได้ยากด้วยการผ่าตัด เนื่องจากก้อนมะเร็งของตับอ่อนพบการลุกลามไปหลอดเลือดข้างเคียงได้บ่อย ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงมีการนำมีดนาโนมาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งการรักษาอาจใช้มีดนาโนเพียงอย่างเดียวในก้อนที่มีขนาดเล็ก หรืออาจใช้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดในก้อนที่มีขนาดใหญ่ได้

.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของรังสีแพทย์ศิริราช โดยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคมะเร็ง และด้วยเทคโนโลยีความก้าวหน้า    ต่าง ๆ เราคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากโรค จะมีทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยที่หลากหลาย และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขต่อไป และเป็นที่น่ายินดีว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นหนึ่งในโครงการการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและค่าใช้จ่ายสูง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีระยะเวลาดำเนินการไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยโรคจะผ่านกระบวนการและขั้นตอนการรักษา ซึ่งแพทย์ผู้รักษาและทีมสหสาขาวิชาชีพจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและค่าใช้จ่ายสูง สามารถติดต่อบริจาคได้ทุกวันที่ ศิริราชมูลนิธิ โทรศัพท์ 0-2419-7658-60