หลับสนิท ชีวิตมีสุข: Sleep Soundly, Nurture Life

หลับสนิท ชีวิตมีสุข: Sleep Soundly, Nurture Life

การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยร่างกายและจิตใจให้ได้พักจากความเครียดและความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดทั้งวันแล้ว ที่สำคัญการนอนหลับยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การนอนหลับจึงมีความจำเป็นทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่หลายครั้งการนอนอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพเสมอไป ถ้าการนอนนั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากความเครียด ความวิตกกังวล ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ ภาวะการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ใหญ่และเด็ก รวมถึงการนอนไม่หลับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นอกจากจะไม่ทำให้เกิดเป็นการพักผ่อนแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย

การนอนจึงไม่ใช่แค่เพียงการหลับตา หรือต้องนอนให้ครบในกี่ชั่วโมง แต่ควรเป็นการที่ร่างกายและจิตใจได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการนอน อันจะนำมาสู่คุณภาพการนอนหลับที่ดี เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับชมรมรักษ์การนอน จัดการสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในหัวข้อ “หลับสนิท ชีวิตมีสุข: Sleep Soundly, Nurture Life” ณ ห้องประชุม “สดศรี วงศ์ถ้วยทอง” อาคาร ภปร. ชั้น 18 เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้เข้าใจเรื่องของการนอน รู้จักวิธีในการดูแลตนเอง เคล็ดลับการนอนที่ดี ที่ถูกต้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยภายในงานมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนากันอย่างคับคั่ง มีการทำกิจกรรม ร่วมตอบคำถามชิงรางวัล มีการให้ความรู้ที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น ปัญหาการนอนกรน แนวทางการรักษาโรคนอนกรน สูตรลดกรนทำเองได้ที่บ้าน การนอนของทารกและเด็ก...สำคัญอย่างไร เปิดจิต พิชิตโรคการนอนไม่หลับและเทคนิคแก้ปัญหานอนไม่หลับด้วยตนเอง ปัญหาการนอนละเมอในผู้สูงอายุ และเคล็ดลับการนอน “นอนให้เป็นเพื่อห่างไกลโรค”

ผศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน กรรมการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea: OSA) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการยวบตัวของทางเดินหายใจส่วนต้นจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหลับ ทำให้มีการลดลงหรือขาดหายไปของลมหายใจเป็นพัก ๆ โดยเมื่อไม่สามารถหายใจเอาอากาศเข้าร่างกายได้ตามปกติจึงเกิดการตกลงของระดับออกซิเจน ทำให้เกิดการหายใจขัดข้องในขณะหลับ โดยสมองจะรับสัญญาณและกระตุ้นให้พยายามหายใจ มีอาการหายใจเสียงดัง หายใจหอบ และสะดุ้งสำลัก เพื่อปลุกสมองให้ตื่นเพื่อทำหน้าที่เปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้นและกลับมาหายใจใหม่ได้ตามปกติอีกครั้ง แต่เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะหลับอีกก็จะมีอาการแบบเดิม วงจรนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งคืนและรบกวนการนอนหลับหลายครั้งในแต่ละคืน ซึ่งส่งผลเสียทำให้การหลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถหลับลงลึกได้ ทำให้แม้ผู้ป่วยจะนอนหลับได้ระยะเวลาที่พอเพียงก็ยังมีความรู้สึกง่วงนอนและอ่อนเพลียในตอนกลางวัน ส่งผลให้ความจำลดลง สมาธิสั้น มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หรือมีความรู้สึกท้อแท้ซึมเศร้าได้

“อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น นอกจากอาการกรนแล้ว อาการอื่นที่พบ ได้แก่ ประวัติหยุดหายใจจากญาติหรือคู่นอน อาการง่วงนอนตอนกลางวัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะตอนเช้า ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือตื่นขึ้นมาด้วยอาการหายใจไม่ออก อาการง่วงนอนตอนกลางวันเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ในขณะที่บางคนอาจไม่มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันแต่กลับมีอาการนอนไม่หลับก็ได้ โดยเฉพาะในผู้หญิง และในเด็กอาจพบอาการสมาธิสั้น ปัสสาวะรดที่นอน ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ จำเป็นต้องตรวจด้วยการตรวจการนอนหลับ (Overnight polysomnography หรือ Sleep study) โดยคนไข้จะต้องมานอนเพื่อตรวจการนอนหลับในตอนกลางคืน ซึ่งบรรยากาศของการตรวจจะพยายามทำให้เหมือนการนอนหลับที่บ้านที่สุด เพื่อให้คนไข้นอนหลับอย่างธรรมดาเหมือนกับที่นอนที่บ้านจนกระทั่งตื่นตอนเช้าเป็นอันสิ้นสุดการตรวจ ถ้าผลการตรวจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นก็ควรได้รับการรักษาเพราะโรคนี้พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้ายหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเส้นเลือดสมองอุดตันหรือแตก โรคซึมเศร้า โรคกรดไหลย้อน โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือแม้แต่โรคเบาหวาน ก็พบว่าอาจมีความเกี่ยวข้อง”

ผศ.พญ.นฤชา ยังกล่าวถึงแนวทางการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นว่า การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive airway pressure: PAP) ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษาหลักและเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรุนแรงระดับปานกลางและระดับรุนแรงมาก โดยอุปกรณ์จะเป็นหน้ากากสวมทับบริเวณจมูกในขณะหลับและต่อกับเครื่องอัดอากาศขนาดเล็กผ่านทางท่ออากาศ โดยแรงดันอากาศจะค่อย ๆ เปิดทางเดินหายใจบริเวณช่องคอเพื่อให้การนอนและการหายใจเป็นปกติ

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยอุปกรณ์ทางทันตกรรม (Oral appliance) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เลื่อนกรามมาทางด้านหน้า เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการรักษาผู้ป่วยบางราย อุปกรณ์นี้จะช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น อุปกรณ์นี้เหมาะสำหรับกลุ่มที่อาการรุนแรงน้อยหรือรุนแรงปานกลาง นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำให้คนไข้ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ยานอนหลับต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคการนอนตะแคงซึ่งโดยทั่วไปแนะนำเป็นการรักษาเสริมที่จะช่วยให้การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ผลมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายช่องคอ ซึ่งมี 2 เทคนิค คือ

         1. การบริหารกล้ามเนื้อคอหอย (Oropharyngeal exercise) ซึ่งประกอบไปด้วย

การบริหารกล้ามเนื้อลิ้นและเพดานปาก

1. ออกเสียง “อา”: ออกเสียง “อา” ยาว ๆ ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 6 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 3 รอบ

2. ออกเสียง “อะ”: ออกเสียง “อะ” ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 10 รอบ

3. ม้วนลิ้น: กระดกลิ้นติดเพดานปาก แล้วม้วนลิ้นไปตามเพดานปากเข้าทางด้านใน ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 3 รอบ

4. ออกเสียง “เค้อะ”: ออกเสียง “เค้อะ” ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 10 รอบ

5. ออกเสียง “เจ้อะ”: ดูดลิ้นกับเพดานปากแล้วออกเสียง “เจ้อะ” ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 10 รอบ

6. เดาะลิ้น: ดูดปลายลิ้นไว้กับเพดานปาก แล้วเดาะลิ้นลงจนเกิดเสียง ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 10 รอบ

7. ลิ้นดันกระพุ้งแก้ม: ลิ้นดันกระพุ้งแก้มให้แก้มป่อง นาน 10 วินาที แล้วสลับกลับไปดันอีกข้างหนึ่งอีก 10 วินาที ทำครบ 2 ข้าง เท่ากับ 1 ครั้ง ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1รอบ ทำวันละ 3 รอบ

         การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า

1. ห่อริมฝีปากแล้วหายใจลึก: ห่อริมฝีปากให้แน่นแล้วหายใจเข้าทางปากลึก ๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 10 รอบ

2. ดูดกระพุ้งแก้ม: ดูดกระพุ้งแก้มให้แก้มตอบ ทำซ้ำ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 10 รอบ

3. เคี้ยวกร้วม: เคี้ยวหมากฝรั่งสลับข้างไปมา ขยับทั้งปากและขากรรไกร เคี้ยวครั้งละ 2 นาที ทำวันละ 3 ครั้ง

         การฝึกการหายใจและการพูด

            1. หายใจเข้าลึกทางจมูกและออกเสียงอา: หายใจเข้าลึก ๆ ทางจมูกแล้วออกเสียงอายาว ๆ ทำวันละ 3 ครั้ง

2. เป่าลูกโป่ง: หายใจเข้าลึก ๆ ทางจมูกแล้วเป่าลมเข้าลูกโป่ง ทำซ้ำ 5 ครั้ง โดยห้ามถอนลูกโป่งออกจากปาก ทำวันละ 3 รอบ

หมายเหตุ กรณีเป่าลูกโป่งไม่ได้ ให้ทำท่า “อมลมแก้มป่อง แล้วหายใจออก”: อมลมไว้ในปากจนกระพุ้งแก้มป่องออก แล้วเป่าลมออกทางปากโดยให้กระพุ้งแก้มป่องออกอยู่ตลอดเวลา ทำซ้ำ 5 ครั้ง เท่ากับ 1 รอบ ทำวันละ 3 รอบ

         2. การบริหารโดยวิธีหายใจเข้าออกลึก (Deep breathing exercise)

            โดยหายใจเข้าลึกอย่างทางจมูกจนหน้าท้องขยายออก และกลั้นหายใจไว้ 2 วินาที จากนั้นให้หายใจออกอย่างช้าทางจมูกเช่นกันจนหน้าท้องยุบลง ทำซ้ำเช่นนี้รอบละ 10 ครั้ง ทำวันละ 10 รอบ

            มีข้อมูลวิจัยว่าการบริหารกล้ามเนื้อคอหอย (Oropharyngeal exercise) หรือการบริหารโดยวิธีหายใจเข้าออกลึก (Deep breathing exercise) ถ้าทำต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ สามารถทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea: OSA) ที่ส่งผลต่อสุขภาวะการนอนที่ดีที่มีคุณภาพแล้ว อาการนอนไม่หลับหรือหลับลำบาก หรือหลับไม่สนิทก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อยกับทุก ๆ คนในทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้อาการนอนไม่หลับมีความสำคัญอย่างไร และจะถือว่าเป็นโรคได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ .นพ.โชติมันต์ ชินวรารักษ์ ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า อาการนอนไม่หลับถือเป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อย มีการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 30-50 ของประชากรในวัยผู้ใหญ่จะต้องเคยประสบกับอาการนี้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต บางคนอาจเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ก็มีบางส่วนที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง และมีถึงร้อยละ 10 ที่อาการนอนไม่หลับนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานหรือรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันจนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ซึ่งผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับจะมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งอาการคือ เข้านอนแล้วนอนไม่หลับ หรือใช้เวลานานกว่าจะสามารถหลับได้ (หลับยาก) สามารถนอนหลับได้เมื่อเข้านอน แต่ต้องตื่นมากลางดึกและไม่สามารถนอนต่อได้ (ตื่นง่าย) รวมถึงสามารถนอนหลับได้ แต่ตื่นเช้าเกินไป (ตื่นเร็ว) จนทำให้รู้สึกนอนไม่เพียงพอ เช่น เข้านอน 4 ทุ่ม แต่ตื่นมาตี 2 หรือตี 3 ทุกวัน ซึ่งปัญหานอนไม่หลับมักจะพบในเพศหญิง ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานไม่เป็นเวลาหรือทำงานเป็นกะ นอกจากนี้การเข้านอนและตื่นนอนไม่เป็นเวลายังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการนอนไม่หลับที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นอีกด้วย

            สำหรับสาเหตุของการนอนไม่หลับ.นพ.โชติมันต์ กล่าวว่า เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านจิตใจ ความเครียด และการปรับตัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการนอนไม่หลับที่เป็นอย่างเฉียบพลัน ชั่วครั้งชั่วคราว (Acute insomnia) เมื่อความเครียดหายไปสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น อาการนอนไม่หลับมักจะหายไปได้เอง สาเหตุทางด้านจิตใจอาจเกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลุ่มวิตกกังวล ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือพบว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น การปวดตามร่างกาย โรคกรดไหลย้อน โรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งการใช้ยาหรือสารบางชนิดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น ชาและกาแฟซึ่งมีส่วนประกอบของคาเฟอีน และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

            การรักษาโรคนอนไม่หลับสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีการหลัก ๆ คือ

            1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ควรใช้เป็นการรักษาในลำดับต้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มการรักษาด้วยยานอนหลับ การรักษาโดยไม่ใช้ยาประกอบไปด้วยการหาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ การปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดที่อาจไม่เหมาะสมซึ่งรบกวนการนอน และการฝึกผ่อนคลายเพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น การศึกษาพบว่าประสิทธิภาพของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนอกจากช่วยลดอาการนอนไม่หลับแล้ว ยังทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นทั้งในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับเฉียบพลันและเรื้อรัง

            ทั้งนี้สุขอนามัยการนอนหลับที่ดีควรประกอบไปด้วย การเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด, หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะช่วงเย็น (หลังบ่าย 3 โมง) หากจำเป็นไม่ควรงีบหลับเกิน 30 นาที, หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงไฟที่มากเกินไปช่วงก่อนนอน เช่น จากการดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ, หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียงนอนนอกจากการนอนหลับและมีเพศสัมพันธ์, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน แต่ควรเว้นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน, จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการคิดถึงปัญหาการทำงาน การเรียน หรือปัญหาอื่น ๆ ในช่วงก่อนนอน นอกจากนี้หากเข้านอนไปแล้วเกิน 20 นาที ยังไม่หลับ ให้ลุกออกจากเตียงนอนและหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงเบา ๆ จนเมื่อรู้สึกง่วงจึงกลับไปเข้านอนอีกครั้ง

         การหายใจเพื่อการผ่อนคลายมีขั้นตอนการปฏิบัติง่าย ๆ คือ

            - นั่งในท่าที่สบาย หลับตา เอามือประสานไว้บริเวณท้อง

            - ค่อย ๆ หายใจเข้าพร้อมกับนับเลข 1 ถึง 4 เป็นจังหวะช้า ๆ ให้มือรู้สึกว่าท้องพองออก

            - กลั้นหายใจไว้ชั่วครู่ นับ 1 ถึง 4 เป็นจังหวะช้า ๆ เช่นเดียวกับเมื่อหายใจเข้า

            - ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออก โดยนับ 1 ถึง 8 อย่างช้า ๆ พยายามไล่ลมหายใจออกมาให้หมด สังเกตว่าหน้าท้องแฟบลง

            - ควรทำติดต่อกันประมาณ 4-5 ครั้ง ในแต่ละวันควรฝึกให้ได้ประมาณ 40 ครั้ง

            2. การใช้ยานอนหลับ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น เนื่องจากยานอนหลับบางกลุ่มเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดปัญหาการติดยาได้ กล่าวคือต้องเพิ่มปริมาณการใช้ขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ตนเองนอนหลับได้ และเมื่อหยุดใช้ยาทันทีอาจทำให้อาการนอนไม่หลับรุนแรงมากขึ้น ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์นานจะส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน มึนงง เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุหกล้มในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้แล้วฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อที่เกิดจากยานอนหลับบางกลุ่มอาจส่งผลให้อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นแย่ลงได้

            “โดยทั่วไปแล้วเมื่อผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับมาพบแพทย์ แพทย์จะต้องหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ ทั้งจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย และเริ่มการรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานอนหลับก็อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น ช่วยการนอนไม่หลับที่เกิดจากความเครียดและวิตกกังวลในช่วงแรก ๆ เมื่ออาการนอนไม่หลับดีขึ้นแล้ว แพทย์จะค่อย ๆ ลดปริมาณและความถี่ของการใช้ยานอนหลับลง จนหยุดได้ในที่สุด”

สุดท้ายนี้ .นพ.โชติมันต์ ยังกล่าวย้ำถึงอันตรายของโรคนอนไม่หลับที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตว่า โรคนอนไม่หลับนอกจากทำลายคุณภาพชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ทำให้อารมณ์ไม่ดี สมาธิและความจำไม่ดีแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งในส่วนของโรคทางกาย ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันเรื้อรังนาน ๆ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางอย่างได้ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วก็อาจจะทำให้โรคหัวใจกำเริบได้ง่ายขึ้นด้วย

 

Casinoslot giriş Güvenilir bahis siteleri