ปวดจากมะเร็ง กับมอร์ฟีน
อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ สภาพการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายพบได้ถึง 70% และยังพบได้ในทุกระยะของโรค หรือเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งจึงต้องทราบสาเหตุของความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง, วิธีการบรรเทาความปวด, ผลไม่พึงประสงค์และการแก้ไข โดยมีหลักการสำคัญคือ สามารถบรรเทาความปวดโดยมีผลข้างเคียงน้อย และผู้ป่วยดำรงอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตพอสมควร
สาเหตุของความปวดในผู้ป่วยมะเร็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อันได้แก่ อาการปวดจากมะเร็งโดยตรง มีการแพร่กระจาย (metastases) เช่น ไปที่กระดูกซึ่งพบบ่อยที่สุด ทำให้มีความปวดจากการทำลายเนื้อกระดูก หรือทำให้มีกระดูกอ่อนตัวยุบลงและหัก, มะเร็งลุกลามโดยตรงไปเนื้อเยื่อรอบ ๆ, มะเร็งกระจายลุกลามไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง หรือมะเร็งของอวัยวะภายใน
ปวดจากการรักษามะเร็ง เช่น จากการผ่าตัดเต้านม mastectomy ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, thoracotomy, การตัดขา (amputation) อาจทำให้ปวดขาหลังตัดขา (phantom limb pain) จากการให้เคมีบำบัด หรือการให้รังสีรักษา ซึ่งทำให้มีพังผืดไปล้อมข่ายประสาท
ปวดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาจเกิดมีแผลกดทับ มีความวิตกกังวล ปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache), ซึมเศร้า, ภาวะท้องผูก, ปวดกล้ามเนื้อ (myofascial pain)
การที่ผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนมากขึ้นถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากขึ้นในเวชปฏิบัติ จึงเป็นที่มาของการสืบค้นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้รวบรวมงานวิจัย 638 งานวิจัย รวบรวมผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจำนวน 624,241 คนที่ได้รับมอร์ฟีนชนิดรับประทาน ผู้ป่วยที่ได้รับมอร์ฟีน 60% มีความพึงพอใจในระดับดีเยี่ยม คือสามารถทำให้อาการปวดรุนแรงลดลงสู่ระดับน้อยได้ และพบว่า 5% ของผู้ป่วยที่ได้รับมอร์ฟีนเกิดผลข้างเคียงจากการใช้มอร์ฟีน
กล่าวโดยสรุป มอร์ฟีนเป็นยาควบคุมพิเศษที่สามารถบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ผลดีมาก แต่เนื่องจากเป็นยาควบคุมพิเศษจึงควรใช้ตามความเหมาะสม