แนวทางการตรวจคดีความผิดทางเพศเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดในห้องปฏิบัติการ
พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกุร หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมีและเขม่าดินปืน สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
ความเดิมตอนที่แล้วได้พูดถึงแนวโน้มการก่อคดีความผิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงปีที่ผ่านมา โดยพบปัญหาการก่อคดีกับเด็กเกิดขึ้นทุกวันโดยตรวจพบผู้เสียหายอายุตั้งแต่ 1-8 ปีในทุกเดือน ทำให้เราได้ข้อสรุปร่วมกันว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กเป็นเรื่องใกล้ตัวเราและน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง
การตรวจพิสูจน์ในกรณีดังกล่าวสามารถกระทำได้ตามขั้นตอนหลังจากการตรวจพิสูจน์ร่องรอยบาดแผลจากแพทย์นิติเวชเพื่อบันทึกร่องรอยการล่วงละเมิดทางเพศกับผู้เสียหายทั้งชายและหญิงดังกล่าว โดยการตรวจผู้เสียหายที่เป็นเพศหญิง แพทย์จะทำการเก็บของเหลวจากในช่องคลอดและทำการป้ายเก็บบริเวณอวัยวะเพศ ตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร จากการซักประวัติ เช่น บริเวณแคมนอก (Labia majora) หากจำเป็น แล้วเช็ดระหว่างแคมใน (Vestibule) ให้มากที่สุด อีกส่วนหนึ่งจะต้องทำการป้ายเก็บในส่วนที่ลึกด้วย โดยเฉพาะที่ หลังปากมดลูก (Posterior fornix) ทั้งนี้เพราะเป็นตำแหน่งที่น้ำอสุจิจะค้างอยู่มากที่สุด ในส่วนของผู้เสียหายที่เป็นเพศชายจะทำการเก็บวัตถุพยานโดยการ Swab ที่ช่องทวารหนัก พร้อมทั้งบันทึกบาดแผลและความผิดปกติของทวารหนักด้วย ภายหลังการเก็บวัตถุพยานแล้วทิ้งไว้ให้แห้งไม่จำเป็นต้องใส่ในอาหารเลี้ยงเชื้อใด ๆ เมื่อวัตถุพยานมายังห้องปฏิบัติการ การทดสอบทางห้องปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 3การทดสอบหลัก กล่าวคือ การตรวจหาส่วนประกอบของน้ำอสุจิ การตรวจหาตัวอสุจิ และสุดท้ายคือการตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องหา
การตรวจส่วนประกอบของน้ำอสุจิเป็นการตรวจหาเอนไซม์ที่อยู่ในน้ำอสุจิที่พบได้มากที่สุดคือ เอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตส (Acid phosphatase) ถ้าให้ผลบวกก็แสดงว่าคราบนั้นน่าจะเป็นน้ำอสุจิ การตรวจสารเคมีนี้ไม่อาจยืนยันได้แน่นอนเหมือนกรณีที่ตรวจพบตัวอสุจิ เพราะสารเคมีดังกล่าวมิได้มีอยู่เฉพาะแต่ในน้ำอสุจิเท่านั้น เอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตสเป็นเอนไซม์ที่พบได้ทั่วไปในร่างกายและพบมากที่สุดที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งถูกสร้างขึ้นที่เซลล์เยื่อบุต่อมลูกหมาก และหลั่งออกมาในน้ำอสุจิเป็นส่วนใหญ่ การตรวจหาระดับเอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตสในของเหลวจากช่องคลอดสามารถใช้เป็นวิธีตรวจพิสูจน์น้ำอสุจิในคดีข่มขืนกระทำชำเราได้อีกด้วย เนื่องจากในน้ำอสุจิมีปริมาณเอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตสมากกว่าในของเหลวอื่น ๆ จากร่างกายประมาณ 500-1,000 เท่า เพราะฉะนั้นการตรวจพบเอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตสปริมาณมาก ๆ จึงเป็นค่าบ่งชี้ได้ว่าตัวอย่างส่งตรวจนั้นน่าจะเป็นน้ำอสุจิ เอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตสในน้ำอสุจิอาจอยู่ในช่องคลอดได้เป็นระยะเวลานานถึง 3-4 วัน หรืออาจลดลงอย่างรวดเร็วจนตรวจไม่พบภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์
เอนไซม์อีกตัวที่นิยมตรวจหาคือ PSA (Prostate-specific antigen) ซึ่งเป็น Glycoprotein enzyme ที่แยกได้จากเซลล์เยื่อบุของต่อมลูกหมาก พบได้เฉพาะใน prostatic tissue ไม่ว่าจะเป็น normal, benign, malignant และใน prostatic fluid นอกจากนี้ยังพบมากที่ seminal vesicle มีหน้าที่ทำให้น้ำอสุจิละลายตัวและเคลื่อนที่ได้อิสระ มีความจำเพาะสูง แต่ค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างแพง
หลังจากนั้นขั้นตอนต่อไปของการตรวจคือ การตรวจหาตัวอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยการย้อมสีบนแผ่นสไลด์และการตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดดังกล่าว โดยการที่จะระบุว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเซลล์อสุจิที่พบอยู่ในคราบอสุจิที่ดีที่สุดก็คือ การตรวจหาชนิดของดีเอ็นเอ นิยมสกัดเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกแยกดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องคลอดของเพศหญิงออก ขั้นตอนที่สองสกัดเอาดีเอ็นเอของเซลล์อสุจิ สามารถใช้เอนไซม์เฉพาะ เช่น Dithiothreitol มาย่อยในภายหลัง
การตรวจหาเยื่อบุช่องคลอดของเพศหญิงที่ติดมากับปลายอวัยวะเพศชายก็เป็นอีกการทดสอบที่น่าสนใจโดยการตรวจเซลล์ของเยื่อบุช่องคลอด (Lugol’s test) เซลล์ของเยื่อบุช่องคลอดนั้นส่วนหนึ่งจะมีลักษณะพิเศษคือมีสารที่เรียกว่า ไกลโคเจน (Glycogen) อยู่ในเซลล์เป็นจำนวนมาก และสารนี้เมื่อถูกกับน้ำยาลูกอล (Lugol's solution) จะเกิดสีน้ำตาลไหม้หรือสีช็อกโกแลต ดังนั้น แผ่นกระจกที่แตะบริเวณคออวัยวะเพศชายตามที่กล่าวมาแล้ว เมื่อนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการโดยหยดน้ำยาลูกอลลงไป แล้วนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ามีเซลล์ที่มีเม็ดสีช็อกโกแลตเป็นจุด ๆ ติดอยู่ในเซลล์ แสดงว่าเซลล์นั้นเป็นเซลล์ที่มีจากเยื่อบุช่องคลอดซึ่งเป็นผลจากการร่วมประเวณีใหม่ ๆ
สาเหตุอื่นที่ทำให้ไม่สามารถตรวจพบอสุจิได้นั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีการสำเร็จความใคร่ สำเร็จความใคร่ภายนอก สวมถุงยางอนามัย ผู้เสียหายทำความสะอาดช่องคลอด ระยะเวลาในการนำผู้เสียหายมาทำการตรวจ เป็นต้น