ภาวะลำไส้ขาดเลือด (Mesenteric ischemia)
อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ภาวะลำไส้ขาดเลือดเป็นความผิดปกติของระบบหลอดเลือดในช่องท้องที่มีความรุนแรงและถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบให้การวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้ และเนื่องจากลักษณะอาการและอาการแสดงทางคลินิกของภาวะนี้ไม่จำเพาะและส่วนใหญ่ไม่ชัดเจนจนในระยะท้าย ๆ ของโรคแล้ว ดังนั้น แพทย์จึงต้องให้ความระมัดระวังและสงสัยภาวะนี้ไว้เสมอในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
ระบาดวิทยาของโรค
ภาวะลำไส้ขาดเลือดเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมีอุบัติการณ์เฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.09-0.2 ต่อปี แต่มีความสำคัญมากเนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงได้มากถึงร้อยละ 60-80 และเนื่องจากโรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าในวัยหนุ่มสาว เมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุในประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจมีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ได้ในอนาคต
กายวิภาคศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรค
หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่เป็นแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง (abdominal aorta) มีอยู่ 3 เส้น ได้แก่
พยาธิสรีรวิทยาของโรค
เมื่อการไหลเวียนภายในหลอดเลือดของลำไส้เริ่มลดลงหรือหยุดไป เนื้อเยื่อลำไส้ในชั้น mucosa จะเป็นส่วนแรกที่เกิดการขาดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้นได้เนื่องจากมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ในชั้นนี้ แต่เนื่องจากส่วนของผนังลำไส้ที่อยู่ด้านนอก (ได้แก่ ชั้น muscularis และ serosa) ยังไม่เกิดการขาดเลือด จึงมักจะยังไม่ปรากฏอาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้องจนทำให้ตรวจพบ rebound tenderness ได้ ผู้ป่วยจึงมักจะมีอาการปวดท้องที่รุนแรงกว่าลักษณะที่ตรวจพบได้จากทางหน้าท้อง แต่เมื่อการขาดเลือดดำเนินต่อไปมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการตายของลำไส้ชั้นที่อยู่รอบนอกด้วยจนทำให้เกิดอาการปวดท้อง และตรวจพบสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดการอักเสบในช่องท้อง (peritonitis) ได้ในเวลาต่อมา สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับอาการปวดในภาวะนี้ก็คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นจากการขาดเลือดระยะแรกและระยะหลังอาจคั่นด้วยช่วงเวลาที่อาการปวดท้องลดลงหรือหายไปราว 3-6 ชั่วโมง เนื่องจากในช่วงที่ลำไส้ขาดเลือดไปมากอาจทำให้การทำงานของเส้นประสาทรับความรู้สึกจากช่องท้องเสียไปจนไม่สามารถส่งสัญญาณของอาการปวดออกมาได้
ชนิดของการขาดเลือดในลำไส้
การขาดเลือดที่เกิดขึ้นในลำไส้อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะคือ การขาดเลือดอย่างเฉียบพลันและอย่างเรื้อรัง ซึ่งในกรณีเรื้อรังนั้นมักจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการอุดตันภายในหลอดเลือดโดยตรง สาเหตุที่ทำให้เกิดลำไส้ขาดเลือดอย่างเฉียบพลันนั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หลอดเลือดแดงอุดตันจากลิ่มเลือดในบริเวณอื่น (arterial embolus), ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง (arterial thrombosis), ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thrombosis) และการขาดเลือดที่ไม่ได้มาจากการอุดตันของหลอดเลือด (non-occlusive ischemia)
Acute arterial emboli เป็นสาเหตุของการขาดเลือดในลำไส้ที่พบบ่อยที่สุดคือ ประมาณร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วยทั้งหมด ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดที่ลอยมาอุดหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation, กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy), โรคของลิ้นหัวใจ และลิ่มเลือดที่เกิดหลังการตรวจ angiography เป็นต้น จุดที่เกิดการอุดตันในหลอดเลือดมักอยู่ในหลอดเลือด SMA ที่บริเวณ 3-10 ซม. จากจุดที่แยกแขนงออกมาจากหลอดเลือด aorta ซึ่งที่จุดนี้แขนงของหลอดเลือด jejunal และ middle colic artery ได้แยกออกไปแล้ว ดังนั้น ลำไส้ส่วนที่เลี้ยงด้วยแขนงของหลอดเลือดเหล่านี้จึงมักจะไม่เกิดการขาดเลือดไปด้วย เมื่อการไหลเวียนเลือดลดลง ลำไส้ส่วนที่ขาดเลือดจะมีการบีบตัวมากขึ้นในระยะแรก (gut emptying) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลวจนอาจทำให้วินิจฉัยผิดเป็นอาการท้องร่วงได้
Acute arterial thrombosis ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดตีบ atherosclerosis อาจมีการก่อตัวของคราบไขมัน (plaque) ที่บริเวณส่วนต้นของหลอดเลือด SMA และรบกวนการไหลเวียนเลือดมาที่ลำไส้ได้ โดยในรายที่ plaque เกิดการปริแตกจะกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดในบริเวณนั้นจนทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดจนเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก plaque ที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมักจะทำให้การไหลเวียนเลือดมาที่ลำไส้ลดลง ผู้ป่วยเหล่านี้จึงมักมีประวัติอาการปวดท้องอย่างเรื้อรังและมักจะปรากฏอาการขึ้นหลังรับประทานอาหารซึ่งเรียกว่า intestinal angina นำมาก่อน
Mesenteric venous thrombosis พบเป็นสาเหตุของภาวะลำไส้ขาดเลือดได้ราวร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีประวัติของภาวะเลือดแข็งตัวเป็นลิ่มได้ง่าย (hypercoagulable state) มาก่อน เช่น protein C หรือ protein S deficiency, antithrombin III deficiency, factor V Leiden mutation เป็นต้น รวมถึงการมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง, การติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis), โรคตับ และ portal hypertension, โรคเลือด sickle cell disease และโรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) เป็นต้น เมื่อเกิดอาการขาดเลือดผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้องขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่รุนแรงเหมือนที่พบในการอุดตันของหลอดเลือดแดง บางรายอาจมาพบแพทย์หลังจากมีอาการเกินกว่า 24 ชั่วโมงไปแล้ว ดังเช่นในรายงานการวิจัยหนึ่งซึ่งพบว่าผู้ป่วยภาวะลำไส้ขาดเลือดจากสาเหตุนี้มีอาการปวดท้องอยู่ระหว่าง 5-14 วัน และนานที่สุดได้ถึง 1 เดือนก่อนได้รับการวินิจฉัย
Non-occlusive ischemia เป็นสาเหตุของภาวะลำไส้ขาดเลือดได้ประมาณร้อยละ 20 ส่วนใหญ่แล้วการขาดเลือดในลำไส้มักจะมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดของร่างกายโดยรวมลดลง เช่น hypovolemia, การใช้ยาในกลุ่ม vasopressor ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือในภาวะ sepsis เป็นต้น ในภาวะที่มีการไหลเวียนเลือดในร่างกายลดลง หลอดเลือดในลำไส้จะมีการปรับตัวโดยเกิดการหดเกร็งของหลอดเลือดซึ่งทำให้การไหลเวียนเลือดเข้ามายังผนังลำไส้ลดลงมากจนเกิดการขาดเลือดในที่สุด ผู้ป่วยที่เกิดการขาดเลือดของลำไส้จากสาเหตุนี้มักจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากเนื่องจากมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการขาดเลือดของลำไส้ร่วมด้วย
ลักษณะอาการและอาการแสดงทางคลินิก
ผู้ป่วยที่พบการเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคร่วมที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้อยู่ก่อน เช่น โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบ (peripheral arterial disease), โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease), เบาหวาน, โรคไตที่ต้องรับการรักษาด้วยการล้างไต, โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น อาการเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดท้อง ซึ่งมักจะเป็นลักษณะอาการปวดเกร็งที่บริเวณรอบสะดือแต่ระบุตำแหน่งไม่ได้แน่ชัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปลักษณะทางคลินิกที่เกิดจากการขาดเลือดของลำไส้จะเปลี่ยนแปลงไปซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะตามลำดับทางพยาธิสรีรวิทยาของโรค ได้แก่ hyperactive phase, paralytic phase และ shock phase
ข้อควรสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับภาวะนี้คือ ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้เนื่องจากสาเหตุของการขาดเลือดในผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน และในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจร่างกายเลยก็ได้ ดังเช่นในการศึกษาหนึ่งซึ่งพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายเพียงร้อยละ 22 ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น แพทย์จึงต้องนึกถึงและสงสัยภาวะนี้เอาไว้เสมอในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้องโดยไม่ปรากฏสาเหตุชัดเจนและมีปัจจัยเสี่ยงของเกิดโรค
การวินิจฉัย
นอกเหนือไปจากประวัติอาการและการตรวจร่างกายแล้ว การตรวจที่อาจนำมาใช้สนับสนุนการวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางรังสีวิทยา
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (white blood cell count), ระดับกรดแลคติคในเลือด, ระดับ d-dimer และ Urine intestinal fatty acid-binding protein การตรวจเหล่านี้ส่วนใหญ่แม้จะมีความไวค่อนข้างสูงแต่ไม่ค่อยมีความจำเพาะ (ยกเว้นกรณีของ urine intestinal fatty acid-binding protein) และมักจะพบความผิดปกติได้ในระยะท้าย ๆ ของโรค ดังนั้น จึงมักจะไม่ค่อยมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยมากนัก
การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่
การดูแลรักษาผู้ป่วย
กระบวนการรักษาผู้ป่วยภาวะลำไส้ขาดเลือดควรเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังอยู่ในระหว่างการตรวจวินิจฉัย การรักษาที่ควรพิจารณาให้แก่ผู้ป่วย ได้แก่
ผลการรักษาและการพยากรณ์โรค
ในอดีตภาวะลำไส้ขาดเลือดเป็นภาวะที่อัตราการเสียชีวิตสูงมากถึงร้อยละ 80 และลดลงมาเหลือร้อยละ 70 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุของการเกิดโรค สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นจากภาวะแทรกซ้อน เช่น respiratory failure, multiorgan failure และ sepsis การวินิจฉัยโรคให้ได้อย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก โดยมีข้อมูลการศึกษาพบว่าการวินิจฉัยและให้การรักษาภายใน 12 ชั่วโมงสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือเพียงร้อยละ 14 สำหรับภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดที่พบได้บ่อย ได้แก่ short bowel syndrome ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 35-79 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยการดูแลติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในระยะหลังการผ่าตัด
สรุป
ภาวะลำไส้ขาดเลือดถือเป็นภาวะฉุกเฉินของระบบไหลเวียนเลือดที่แพทย์ต้องทำความคุ้นเคยและนึกถึงไว้เสมอในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้อง เนื่องจากเป็นภาวะที่วินิจฉัยได้ค่อนข้างยากและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ แม้ว่าสาเหตุของการเกิดภาวะนี้จะมีได้หลากหลาย แต่แนวทางในการรักษาจะคล้ายคลึงกัน และส่วนสำคัญที่สุดคือ การวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็วร่วมกับการเริ่มต้นการรักษาไปก่อนในระหว่างที่ดำเนินการตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุดและลดภาวะแทรกซ้อนลงได้
References