Medical Devices ASEAN 2018 (MDA 2018) งานแสดงอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติ และการประชุมวิชาการทางการแพทย์

Medical Devices ASEAN 2018 (MDA 2018)
งานแสดงอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติ และการประชุมวิชาการทางการแพทย์

         บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด จัดงานแสดงอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติ เเละการประชุมวิชาการทางการแพทย์ Medical Devices ASEAN 2018 (MDA 2018) ภายใต้ธีม “Building the Future of Healthcare” ซึ่งครอบคลุมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ด้านศัลยกรรมทั่วไป ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวินิจฉัย ห้องปฏิบัติการทางการเเพทย์ เทคโนโลยีและระบบไอที รวมไปถึงวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ อาคาร 1-2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี         

         มร.ลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่เมดิคัลฮับเอเชีย หรือศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชีย โดยจัดสรรงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของภาครัฐถึง 14% จากงบประมาณทั้งหมดในการพัฒนาประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก ด้วยเหตุนี้การจัดงาน Medical Devices ASEAN หรือ MDA 2018 จึงเป็นเวทีที่รวบรวมเทคโนโลยี อุปกรณ์ และบริการต่าง ๆ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งเอเชียอย่างแท้จริง

จากข้อมูลของธนาคารโลก ปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายต่อจีดีพีด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก นโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นส่งเสริมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ประกอบกับการที่โรงพยาบาลในประเทศไทยมีระบบบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ป่วย JCI มากที่สุดในอาเซียน จะส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ระดับนานาชาติได้ ในปี พ.ศ. 2561 คาดว่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 617,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ 8% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2561 สำหรับอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศไทยคาดว่าจะมีมูลค่า 42,000 ล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่แล้ว มร.ลอย จุน ฮาว กล่าวเพิ่มเติม

            สำหรับรูปแบบของงาน MDA 2018 ประกอบด้วยงานแสดงสินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 150 บริษัท ถือว่าเป็นเวทีเจรจาธุรกิจด้านเครื่องมือแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ MDA Congress ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ สมาคมเวชสารสนเทศไทย และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

            หัวข้อการบรรยายและสัมมนาวิชาการครั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน ซึ่งเน้นย้ำว่าไม่ควรพลาด เนื่องจากในแต่ละวันมีเนื้อหาสาระที่มีความแตกต่างกันออกไปตามธีม ซึ่งทางอิมแพ็ค (IMPACT) และสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ต่าง ๆ ได้มีการจัดสรรไว้อย่างดี ดังนี้

            วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 มีหัวข้อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  • Digital Orthopedic โดย สวทช.
  • Nursing Trends and Opportunities in Healthcare Technology โดยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ
  • Digital Imagine in Radiology and Patient Safety Program โดยรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
  • เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงอายุ โดยสมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย

            วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ภายใต้ธีม “Trend of Medical Device Industry and Hospital in Thailand – ASEAN” มีหัวข้อดังต่อไปนี้

  • Industry Trends and Predictions โดย FROST & SULLIVAN (ภาษาอังกฤษ)
  • Escalating Global Challenges – JCI’s 6th Edition Hospital Standards โดย JCI (ภาษาอังกฤษ)
  • ความท้าทายและโอกาสในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย โดย ภก.ปรีชา พันธ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (ภาษาอังกฤษ)
  • Hospital IT Quality Improvement (CIO Forum) โดยสมาคมเวชสารสนเทศไทย
  • Nursing Trends and Opportunities in Healthcare Technology โดยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ
  • Trend of Medical Technology Laboratory Service in 21st Century โดยสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยฯ
  • Medical Industry Networking โดย BOI-BUILD (สำหรับผู้ได้รับหนังสือเชิญ)

            วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ภายใต้ธีม “Trend of Medical Device Industry and Hospital in Thailand – ASEAN” มีหัวข้อดังต่อไปนี้

  • อุปกรณ์การแพทย์ไทย การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม โดย สวทช.
  • การเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ของผู้ค้ากับภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลาง
  • Nursing Trends and Opportunities in Healthcare Technology โดยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ

            ผู้สนใจเข้าร่วมงานแสดงอุปกรณ์ทางการแพทย์นานาชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คุณกัญญ์สิริ แก่นทอง (หนิง) โทรศัพท์ 0-2833-5308 โทรสาร 0-2833-5127-9 หรือ E-mail: kannsiris@impact.co.th สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการทางการแพทย์ โปรดลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.medicaldevicesasean.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนิชา อัครเมธากุล โทรศัพท์ 0-2833-5290 หรือ E-mail: nichaa@impact.co.th หรือ E-mail: info@medicaldevicesasean.com

พญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ
นายกรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

            รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งนับได้เป็นเวลา 55 ปีมาแล้ว โดยสมาคมเป็นที่รวบรวมของสาขาวิชาชีพทางรังสีวิทยา ประกอบด้วย รังสีแพทย์ รังสีเทคนิค นักฟิสิกส์การแพทย์ พยาบาลทางรังสี นักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และในระยะหลังเริ่มมีบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วย เนื่องด้วยการทำงานของสาขาวิชาชีพทางรังสีวิทยากำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอล การเข้าร่วมงาน Medical Devices ASEAN 2018 (MDA 2018) สามารถนำมาใช้งานกับความก้าวหน้าของทางรังสีวิทยา ทำให้ยกระดับความรู้ของการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพก้าวเข้าสู่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพทางรังสีวิทยาซึ่งมีราคาสูง และส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น เครื่องเอกซเรย์ (X-ray), เครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound), เครื่อง CT Scan (Computerized Tomography Scan), เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีในระดับสูง

            ปัจจุบันเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางด้านรังสีวิทยาสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนของซอฟต์แวร์ และส่วนของฮาร์ดแวร์ ซึ่งในที่นี้อยากจะเน้นเรื่องของซอฟต์แวร์ก่อน เพราะว่าทุกวันนี้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ทางด้านรังสีวิทยา เนื่องจากพบว่าภาพทางการแพทย์ หรือภาพทางรังสี (Radiographic Image) ปัจจุบันมีจำนวนมากในการตรวจแต่ละครั้ง กรณีคนไข้หนึ่งคน ผลจากการตรวจด้วยเครื่อง MRI หนึ่งครั้ง ในอดีตอาจจะมีภาพทางการแพทย์ 10-20 ภาพ ในขณะ*เดียวกันปัจจุบันอาจจะมีภาพทางการแพทย์มากถึง 1,000 ภาพ ซึ่งหมายความว่าในคนไข้หนึ่งคนที่ผ่านการตรวจด้วยเครื่อง MRI แพทย์จำเป็นต้องตรวจสอบภาพทางการแพทย์ 1,000 ภาพ เพื่อตรวจสอบหาความผิดปกติ ดังนั้น การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ในส่วนของซอฟต์แวร์ก็จะช่วยให้รังสีแพทย์สามารถตรวจสอบหาความผิดปกติของภาพทางการแพทย์แต่ละภาพ และแปลผลภาพทางการแพทย์เมื่อพบความผิดปกติได้รวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแพทย์ผู้ใช้งานและคนไข้ผู้รับการรักษา

            สำหรับภายในงาน MDA 2018 ครั้งนี้ รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยจึงเข้าร่วมจัดการสัมมนาวิชาการเฉพาะเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับทางรังสีวิทยาในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยจะเน้นในแง่ของการใช้งานดิจิตอลเทคโนโลยีทางด้านรังสีวิทยา ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการใช้งานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ตลอดจนเรื่องของความปลอดภัยของผู้ป่วยในเรื่องของรังสีวิทยา นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นกรรมการของสมาคมเวชสารสนเทศไทยอีกสมาคมหนึ่ง ขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่าในงานวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 สมาคมเวชสารสนเทศไทยก็จะได้มีการสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาลกับมาตรฐานสากลอีกด้วย

นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด มหาชน (BDMS)

            ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพมุ่งมั่นสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยทั้งทางคลินิก และทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการแพทย์ จึงมีความสนใจเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Devices) เป็นอย่างยิ่ง การรับเชิญเข้าร่วมงาน Medical Devices ASEAN 2018 (MDA 2018) ถือเป็นโอกาสสำหรับศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ทั้งด้านการดูแลผู้ป่วยและด้านการวิจัย ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ช่วยให้การดูแลรักษาและพยาบาลคนไข้สามารถทำได้ดีขึ้น เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง หรือการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีความลำบากน้อยลง ประการที่สอง เครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ ๆ นอกจากจะช่วยในการดูแลรักษาคนไข้แล้ว ยังจะต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้คนทั่วไปมีสุขภาพที่ดีขึ้น เช่น สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพที่คอยตรวจสอบชีพจรและคอยเตือนให้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น

            สำหรับภายในงาน MDA 2018 ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพขอเสนอแนวคิด 2 ประการ บนพื้นฐานที่ว่าในเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพและเครือข่ายทั้งหมดคือ BDMS มีโรงพยาบาลในเครือเกือบ 50 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ อันทำให้มีศักยภาพในการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน แนวคิดประการที่ 1 คือ อยากให้เห็นถึงความสำคัญของโอกาสหรือเครือข่ายของการมีโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือเดียวกัน ซึ่งสามารถสนับสนุนด้านการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวคิดประการที่ 2 คือ การขยายมุมมองจากเดิมที่มองว่าโรงพยาบาลมีไว้สำหรับการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ให้เป็นมุมมองว่าโรงพยาบาลสามารถทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) และการป้องกันโรค (Disease Prevention) ได้ โดยทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพกำลังเน้นเรื่อง “การวิจัยสุขภาพ” คือ การสร้างและสรุปความรู้ว่าทำอย่างไรให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งเหมาะสมกับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ

คุณวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล
กรรมการบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด

            บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจอยู่ในวงการแพทย์ไทยมานานกว่า 30 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านการผลิต การจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ ศรีตรังโกลฟส์จึงเป็นบริษัทอันดับหนึ่งและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้านถุงมือยางทางการแพทย์มาโดยตลอด อีกทั้งยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้น การเข้าร่วมงาน Medical Devices ASEAN (MDA 2018) ซึ่งเป็นงานระดับภูมิภาคอาเซียนทั้งในกลุ่ม CLMV คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และยังมีนักธุรกิจหรือบริษัทจากต่างประเทศเข้าร่วมอีกด้วย จึงเป็นช่องทางสำหรับการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ซึ่งนอกเหนือจากประเทศมาเลเซียแล้ว ในภูมิภาคอาเซียนก็ยังมีบริษัทที่สามารถผลิตถุงมือยางที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับ Top 5 ของโลก

            สำหรับภายในงาน MDA 2018 ศรีตรังโกลฟส์ จึงได้นำผลิตภัณฑ์ถุงมือยางซึ่งผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านการแพทย์ งานเฉพาะทาง และงานอเนกประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งนำมาเสนอผลิตภัณฑ์ผ่าน 3 แบรนด์ของบริษัท ได้แก่ ศรีตรังโกลฟส์, ซาโตรี่ และ I’M GLOVE โดยประเภทถุงมือยางสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภท ดังนี้

1. (Natural Latex Powdered Gloves) ()

2. (Natural Latex Powder Free Gloves) ()

3. (Nitrile Powder Free Gloves)

4. (Sterile Natural Latex Gloves) (Gamma Ray) ()

คุณชวินวิทย์ แท่งทองคำ
Research & Development บริษัท คงศักดิ์เอ็กซเรย์การแพทย์อุตสาหกรรม จำกัด         

            บริษัท คงศักดิ์เอ็กซเรย์การแพทย์อุตสาหกรรม จำกัด มีประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตและนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องเอกซเรย์กว่า 50 ปี โดยได้จำหน่ายเครื่องเอกซเรย์รุ่นต่าง ๆ ให้ประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว ดังนั้น การเข้าร่วมงาน MDA 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติ การประชุมวิชาการทางการแพทย์ จึงเปรียบเสมือนตลาดทางธุรกิจด้านเครื่องมือแพทย์ในระดับภูมิภาคอาเซียนที่สามารถเล็งเห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

            ภายในงาน MDA 2018 ทางบริษัท คงศักดิ์ฯ ได้นำเครื่องเอกซเรย์ (X-ray) รุ่นต่าง ๆ มาร่วมแสดงอย่างมากมาย ทั้งอุปกรณ์ที่มีการผลิตขึ้นเองภายในบริษัทและนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น เครื่องเอกซเรย์แบบทั่วไป (General X-ray), เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ (Mobile X-ray), แผ่นรับภาพระบบดิจิตอล (Flat Panel Detector), เครื่องเอกซเรย์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (Auto Tracking System) รวมถึงระบบ Mobile DR ที่มีระบบมอเตอร์ช่วยขับเพื่อความสะดวกในการใช้งานตามหอผู้ป่วยหรือสถานที่ฉุกเฉิน นอกจากนี้ภายในงานยังได้นำรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ (Mobile X-ray on Vehicle) ที่ได้รับการออกแบบดีไซน์โดยหัวหน้าทีมวิศวกรรมของบริษัท เป็นรถตู้เอกซเรย์เคลื่อนที่รุ่น MAXUS V80 modified มาจัดแสดงภายในงาน

คุณเมธี พฤฒิสาลิกร
Chief Operating Officer บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health)        

            บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ N Health ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติและการประชุมวิชาการทางการแพทย์ MDA 2018: Medical Devices ASEAN 2018 ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพบปะพูดคุยระหว่างกลุ่มบุคคลหรือบริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ในวงการเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นอีกภาระหน้าที่อย่างหนึ่ง เพราะว่า N Health เป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะนำพาทีมวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) เข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ การนำเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนการเข้าถึงผู้ประกอบการ แหล่งผลิต หรือบริษัทชั้นนำ เพื่อให้สามารถคัดสรรและนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งการดูแลให้เกิดความปลอดภัยถือเป็นคำถามที่เคยเป็นช่องว่างและเป็นโอกาสที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งการมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าจะทำให้เราเป็นอีกส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายหลักของประเทศในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในภูมิภาคอาเซียน

            สำหรับนวัตกรรมที่จะนำมาแสดงภายในงาน MDA 2018 นั้น ทาง N Health มองการบริการการดูแลรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งปกติเครื่องมือทางการแพทย์มีการทำงานเป็นแบบอุปกรณ์เดี่ยว (Stand Alone) การจะทำให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดบางครั้งยังขาดการเชื่อมต่อซึ่งแต่ละอุปกรณ์มีการเชื่อมต่อในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่สำคัญคือ การเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาโดยเครื่องมือทางการแพทย์ชิ้นนั้น แนวโน้มการรักษาพยาบาลในอนาคตจะมุ่งเน้นการรักษาการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การนำเอาข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยมาใช้ร่วมกัน ระบบการพัฒนาการใช้ประโยชน์สรรพสิ่งที่เรามีโดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงการนำเอาข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การคัดสรรข้อมูลที่มากมายที่เราเรียกว่า Digitalization เช่น เมื่อก่อนประวัติของคนไข้จะถูกบันทึกในแผ่นกระดาษที่เราเรียกว่า เวชระเบียน ซึ่งจะเห็นว่าในโรงพยาบาลชั้นนำจะเปลี่ยนรูปแบบการบันทึกข้อมูลเป็นระบบดิจิตอล ซึ่งถ้ามีการพัฒนาข้อมูลส่วนนั้นให้มีการเชื่อมโยงประวัติการรักษาและรายละเอียดในเชิงของการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การแปลผลการรักษาในแต่ละครั้งสามารถเชื่อมต่อเป็นเรื่องเดียวกันได้ นั่นคือเป้าหมายของทาง N Health ซึ่งมีความพร้อมระดับหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการแพทย์ โดยมีระบบจัดการบริหารจำนวนเครื่องมือทางการแพทย์ การควบคุมสินทรัพย์ การควบคุมสินค้าคงคลังในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งสามารถวิเคราะห์อัตราการใช้ประโยชน์นอกเหนือจากข้อมูลการใช้งานของเครื่องมือทางการแพทย์ โดยการนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์แสดงผลในเชิงสถิติช่วยให้ไม่เกิดการสูญเสียในเรื่องของการลงทุน และสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงเวลานั้น