สโตรคและการเสียชีวิตในผู้ป่วยไตเรื้อรังสูงอายุ

สโตรคและการเสียชีวิตในผู้ป่วยไตเรื้อรังสูงอายุ

BMJ 2018;360:k342.

            บทความเรื่อง Ischaemic Stroke, Haemorrhage, and Mortality in Older Patients with Chronic Kidney Disease Newly Started on Anticoagulation for Atrial Fibrillation: A Population Based Study from UK Primary Care รายงานผลจากการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างยาต้านการแข็งตัวของเลือด โรคหลอดเลือดสมองชนิดหลอดเลือดตีบ เลือดออกในทางเดินอาหารและสมอง และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในผู้สูงอายุซึ่งมี atrial fibrillation และเป็นโรคไตเรื้อรัง

            คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาย้อนหลังระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 ถึงธันวาคม ค.ศ. 2016 โดยศึกษาจากฐานข้อมูลของ Royal College of General Practitioners Research และ Surveillance Centre ครอบคลุมผู้ป่วยราว 2.73 ล้านคนจากคลินิกเวชปฏิบัติทั่วไป 110 แห่งในอังกฤษและเวลส์ การศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยอายุ 65 ปีหรือมากกว่าซึ่งเพิ่งตรวจพบ atrial fibrillation และมี estimated glomerular filtration rate (eGFR) เท่ากับ < 50 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ประเมินจากสมการคำนวณระดับ creatinine ของโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ตัดออกจากการศึกษาประกอบด้วยผู้ป่วยที่เคยตรวจพบ atrial fibrillation หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดภายในระยะ 120 วันก่อนเริ่มการศึกษา รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตหรือได้รับการปลูกถ่ายไต ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในสมองหรือทางเดินอาหาร และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ

            มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังซึ่งเพิ่งตรวจพบ atrial fibrillation รวม 6,977 ราย ในจำนวนนี้พบว่า 2,434 รายได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดภายใน 60 วันนับจากตรวจพบ และ 4,543 รายไม่ได้รับยา คณะผู้ศึกษาวิจัยได้จับคู่ผู้ป่วย 2,434 คู่ตามคะแนนความโน้มเอียงตามการได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือไม่ได้รับยา โดยมีมัธยฐานการตรวจติดตามเท่ากับ 506 วัน อัตราอย่างหยาบของหลอดเลือดสมองตีบและเลือดออกเท่ากับ 4.6 และ 1.2 ภายหลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และ 1.5 และ 0.4 ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดต่อ 100 คน/ปี ตามลำดับ ค่า hazard ratios สำหรับหลอดเลือดสมองตีบ เลือดออก และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในผู้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเท่ากับ 2.60 (95% CI 2.00-3.38), 2.42 (1.44-4.05) และ 0.82 (0.74-0.91) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด

            การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแก่ผู้สูงอายุที่มี atrial fibrillation ร่วมกับโรคไตเรื้อรังสัมพันธ์กับอัตราที่สูงขึ้นของหลอดเลือดสมองตีบและเลือดออก ขณะเดียวกันก็สัมพันธ์กับการลดลงด้านการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ แพทย์ควรพิจารณาอย่างละเอียดก่อนเริ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดในผู้สูงอายุที่มีโรคไตเรื้อรังซึ่งเกิด atrial fibrillation  ผลลัพธ์จากการศึกษาชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบด้วยวิธีการสุ่มในผู้ป่วยกลุ่มนี้เพื่อที่จะสร้างความกระจ่างถึงแนวทางการดูแลรักษาที่ถูกต้อง