Fenofibrate ต่อกรดยูริกและเกาต์ในเบาหวานชนิดที่ 2
Lancet Diabetes Endocrinol. 2018;6(4):310-8.
บทความเรื่อง Effect of Fenofibrate on Uric Acid and Gout in Type 2 Diabetes: A Post-Hoc Analysis of the Randomised, Controlled FIELD Study รายงานว่า เกาต์เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยระยะสั้นในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กรายงานว่า fenofibrate สามารถลดกรดยูริกและลดอาการของเกาต์ แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า fenofibrate ลดกรดยูริกและอาการของโรคเกาต์ในระยะยาวหรือไม่
การศึกษาวิจัย Fenofibrate Intervention and Event Lowering in Diabetes (FIELD) รวบรวมผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีอายุ 50-75 ปี โดยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับ co-micronized fenofibrate 200 มิลลิกรัม/วัน หรือยาหลอก โดยมีมัธยฐานการตรวจติดตาม 5 ปี คณะผู้ศึกษาวิจัยวิเคราะห์ post-hoc analysis จากข้อมูลการเกิดโรคเกาต์และระดับกรดยูริกในพลาสมาตามการรักษาที่ได้รับ โดยประเมินการเปลี่ยนแปลงของระดับกรดยูริกและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์ระหว่างการศึกษา
ผู้ป่วย 9,795 รายได้รับ fenofibrate (n = 4,895) หรือยาหลอก (n = 4,900) ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ระดับกรดยูริกลดลงร้อยละ 20.2 (95% CI 19.9-20.5) ในช่วง run in 6 สัปดาห์ด้วย fenofibrate ก่อนการสุ่ม (ลดลง 0.06 มิลลิโมล/ลิตร หรือ 1 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) และต่ำกว่าร้อยละ 20.1 (18.5-21.7, p < 0.0001) ในผู้ป่วยที่ได้รับ fenofibrate เทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจากการสุ่มประเมินกลุ่มย่อยที่ 1 ปี กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีเหตุการณ์ของเกาต์ครั้งแรก 151 เหตุการณ์ (ร้อยละ 3) ตลอด 5 ปีเทียบกับ 81 เหตุการณ์ (ร้อยละ 2) ในกลุ่มที่ได้รับ fenofibrate (HR จากการรักษาเท่ากับ 0.54, 95% CI 0.41-0.70; p < 0.0001) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกพบว่าสัดส่วนสะสมของผู้ป่วยที่เกิดเหตุการณ์ของเกาต์ครั้งแรกเท่ากับร้อยละ 7.7 ในกลุ่มที่มีระดับกรดยูริกเริ่มต้นสูงกว่า 0.36 มิลลิโมล/ลิตร และร้อยละ 13.9 ในกลุ่มที่มีระดับกรดยูริกเริ่มต้นสูงกว่า 0.42 มิลลิโมล/ลิตร เทียบกับร้อยละ 3.4 และร้อยละ 5.7 ในกลุ่มที่ได้รับ fenofibrate ความเสี่ยงลดลงใกล้เคียงกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ได้รับ diuretics และมีระดับกรดยูริก และไม่พบความต่างด้านผลจาก fenofibrate ต่อความเสี่ยงโรคเกาต์ในผู้ป่วยที่มีระดับกรดยูริกเริ่มต้นสูงแม้ได้รับ allopurinol เมื่อเข้าร่วมการศึกษาวิจัย เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ของโรคเกาต์ทั้งหมดพบว่า การรักษาด้วย fenofibrate ลดความเสี่ยงโรคเกาต์ได้ครึ่งหนึ่ง (HR 0.48, 95% CI 0.37-0.60; p < 0.0001) เมื่อเทียบกับยาหลอก
การรักษาด้วย fenofibrate ลดระดับกรดยูริกได้ร้อยละ 20 และสามารถลดการเกิดโรคเกาต์ครั้งแรกในระยะ 5 ปีได้ราวครึ่งหนึ่ง ดังนั้น fenofibrate จึงอาจมีประโยชน์ในฐานะการรักษาเสริมเพื่อป้องกันโรคเกาต์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน