NPWT เทียบกับการทำแผลมาตรฐานในกระดูกหักแผลเปิด
JAMA. 2018;319(22):2280-8.
บทความเรื่อง Effect of Negative Pressure Wound Therapy vs Standard Wound Management on 12-Month Disability Among Adults with Severe Open Fracture of the Lower Limb รายงานว่า กระดูกหักแผลเปิดของขาส่วนล่างเกิดจากกระดูกหักทะลุผิวหนังซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจนำไปสู่ความพิการ
คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 16 ปี รวม 460 ราย ซึ่งมีกระดูกหักแผลเปิดรุนแรงของขาส่วนล่างตั้งแต่กรกฎาคม ค.ศ. 2012 ถึงธันวาคม ค.ศ. 2015 เพื่อประเมินความพิการ อัตราการติดเชื้อชั้นลึก และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกระดูกหักแผลเปิดรุนแรงของขาส่วนล่างซึ่งรักษาด้วย negative pressure wound therapy (NPWT) เทียบกับการทำแผลมาตรฐานภายหลัง surgical debridement ครั้งแรก ทั้งนี้ผู้วิจัยติดตามข้อมูลถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 โดยตัดผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลได้รับบาดเจ็บมาแล้วนานกว่า 72 ชั่วโมง และผู้ป่วยที่ไม่สามารถกรอกแบบสอบถามออกจากการศึกษา
ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย NPWT (n = 226) โดยปิดแผลด้วย open-cell solid foam หรือกอซซึ่งต่อกับ suction pump ซึ่งทำให้แผ่นปิดแผลแนบสนิทกับพื้นแผลหรือได้รับการรักษาด้วย standard dressings โดยไม่ได้ใช้ negative pressure (n = 234) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ คะแนน Disability Rating Index score (พิสัยจาก 0 [ไม่มีความพิการ] ถึง 100 [พิการอย่างสมบูรณ์]) ที่ 12 เดือน โดยความต่างที่มีนัยสำคัญทางคลินิกมีคะแนนที่ต่างกันอย่างน้อย 8 คะแนน ผลลัพธ์รอง ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนซึ่งรวมถึงการติดเชื้อชั้นลึกและคุณภาพชีวิต (พิสัยคะแนนตั้งแต่ 1 [ดีที่สุด] ถึง -0.59 [แย่ที่สุด] โดยความต่างที่มีนัยสำคัญทางคลินิกมีคะแนนที่ต่างกันอย่างน้อย 0.08 คะแนน) ติดตามที่ 3, 6, 9 และ 12 เดือน
มีผู้ป่วยร้อยละ 88 (374/427) จากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 460 ราย (อายุเฉลี่ย 45.3 ปี ร้อยละ 74 เป็นชาย) เข้าร่วมจนสิ้นสุดการศึกษา จากการศึกษาไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติด้านคะแนน Disability Rating Index score ที่ 12 เดือน (คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 45.5 ในกลุ่ม NPWT เทียบกับ 42.4 ในกลุ่ม standard dressing group; ค่าเฉลี่ยความต่างเท่ากับ -3.9 [95% CI ระหว่าง -8.9 ถึง 1.2]; p = 0.13) ด้านอัตราการติดเชื้อแผลผ่าตัดชั้นลึก (16 เหตุการณ์ [ร้อยละ 7.1] ในกลุ่ม NPWT เทียบกับ 19 เหตุการณ์ [ร้อยละ 8.1] ในกลุ่ม standard dressing group; ความต่างเท่ากับร้อยละ 1.0 [95% CI ระหว่าง -ร้อยละ4.2 ถึงร้อยละ 6.3]; p = 0.64) หรือคุณภาพชีวิตระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม (ความต่างของ EuroQol 5-dimensions questionnaire เท่ากับ 0.02 [95% CI ระหว่าง -0.05 ถึง 0.08]; Short Form-12 Physical Component Score เท่ากับ 0.5 [95% CI ระหว่าง -3.1 ถึง 4.1] และ Mental Health Component Score เท่ากับ -0.4 [95% CI ระหว่าง -2.2 ถึง 1.4])
ข้อมูลจากการศึกษาในผู้ป่วยกระดูกหักแผลเปิดรุนแรงของขาส่วนล่างชี้ว่า การใช้ NPWT ไม่ได้ลดความพิการที่ 12 เดือน เมื่อเทียบกับ standard wound dressing การศึกษานี้จึงไม่สนับสนุนให้ใช้ NPWT สำหรับกระดูกหักแผลเปิดรุนแรง