Denosumab เทียบกับ Risedronate ใน Glucocorticoid-induced Osteoporosis
Lancet Diabetes Endocrinol. 2018;6(6):445-54.
บทความเรื่อง Denosumab versus Risedronate in Glucocorticoid-induced Osteoporosis: A Multicentre, Randomised, Double-Blind, Active-controlled, Double-dummy, Non-Inferiority Study รายงานว่า glucocorticoid-induced osteoporosis เป็นโรคกระดูกพรุนทุติยภูมิที่พบบ่อยที่สุดและสัมพันธ์กับอัตราการเกิดกระดูกหักร้อยละ 5 ต่อปี คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ denosumab เทียบกับ risedronate ใน glucocorticoid-induced osteoporosis
คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาสุ่มเปรียบเทียบกับยาหลอกแบบปกปิดสองทางระยะ 24 เดือน เพื่อประเมินผลลัพธ์ด้านความไม่ด้อยกว่าจากโรงพยาบาล 79 แห่งในยุโรป ละตินอเมริกา เอเชีย และอเมริกาเหนือ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมีอายุตั้งแต่ 18 ปี และได้รับ glucocorticoids (≥ 7.5 มิลลิกรัมของ prednisone หรือเทียบเท่า) มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน (กลุ่ม glucocorticoid continuing) หรือน้อยกว่า 3 เดือน (glucocorticoid initiating) ก่อนการตรวจคัดกรอง ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี จะต้องมีประวัติกระดูกหักเนื่องจากกระดูกพรุน ผู้ป่วยกลุ่ม glucocorticoid-continuing ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ต้องมีคะแนน lumbar spine, total hip หรือ femoral neck bone mineral density T score เท่ากับ -2.0 หรือน้อยกว่า หรือ -1.0 หรือน้อยกว่าหากมีประวัติกระดูกหักจากกระดูกพรุน ผู้วิจัยสุ่ม (1:1) ให้ผู้ป่วยได้รับ denosumab แบบยาฉีดใต้ผิวหนัง 60 มิลลิกรัมทุก 6 เดือน ร่วมกับยาหลอกแบบยารับประทานทุกวันเป็นเวลา 24 เดือน หรือ risedronate แบบยารับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม และยาหลอกแบบยาฉีดใต้ผิวหนังทุก 6 เดือน เป็นเวลา 24 เดือน การสุ่มแบ่งตามเพศในแต่ละกลุ่มย่อย ยาที่ศึกษาและยาหลอกที่ผู้ป่วยได้รับมีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความไม่ด้อยกว่าของ denosumab เทียบกับ risedronate ในแง่ percentage change จาก baseline ด้าน lumbar spine bone mineral density ที่ 12 เดือนประเมินจาก non-inferiority margins (-0.7 และ -1.1 จุดเปอร์เซ็นต์สำหรับกลุ่ม glucocorticoid-continuing และกลุ่ม glucocorticoid-initiating subpopulations ตามลำดับ) และประเมินความเหนือกว่าในฐานะผลลัพธ์รอง ผลลัพธ์หลักด้านประสิทธิภาพรวมข้อมูลจากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่มทั้งหมดซึ่งมีข้อมูล lumbar spine bone mineral density ที่ baseline และ post-baseline และวิเคราะห์ตามการศึกษาที่สุ่มได้ ผลลัพธ์หลักด้านความปลอดภัยรวมข้อมูลจากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่มทั้งหมดซึ่งได้รับยาที่ศึกษาอย่างน้อยหนึ่งโด๊สและวิเคราะห์ตามการรักษาที่ได้รับตามจริง
ผู้วิจัยรวบรวมผู้ป่วย 795 ราย (กลุ่ม glucocorticoid continuing 505 ราย และ glucocorticoid initiating 290 ราย) โดยสุ่มเป็นกลุ่มที่ได้รับ denosumab 398 ราย และกลุ่มที่ได้รับ risedronate 397 ราย ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2015 การรักษาด้วย denosumab ไม่ด้อยกว่าและเหนือกว่า risedronate ที่ 12 เดือนในแง่ bone mineral density ของ lumbar spine ทั้งในกลุ่ม glucocorticoid-continuing (ร้อยละ 4.4 [95% CI 3.8-5.0] เทียบกับร้อยละ 2.3 [1.7-2.9]; p < 0.0001) และกลุ่ม glucocorticoid-initiating (ร้อยละ 3.8 [3.1-4.5] เทียบกับร้อยละ 0.8 [0.2-1.5]; p < 0.0001) อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (รวมถึงการติดเชื้อ) และกระดูกหักไม่ต่างกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ปวดหลัง (17 ราย [ร้อยละ 4] ในกลุ่ม risedronate และ 18 ราย [ร้อยละ 5] ในกลุ่ม denosumab) และปวดข้อ (21 ราย [ร้อยละ 5] ในกลุ่ม risedronate และ 17 ราย [ร้อยละ 4] ในกลุ่ม denosumab) การติดเชื้อร้ายแรงพบใน 15 ราย (ร้อยละ 4) ในกลุ่ม risedronate และ 17 ราย (ร้อยละ 4) ในกลุ่ม denosumab
ข้อมูลจากการศึกษาเสนอว่า denosumab อาจเป็นทางเลือกการรักษาที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มการรักษาด้วย glucocorticoids หรือได้รับการรักษาด้วย glucocorticoids และมีความเสี่ยงต่อกระดูกหัก