ความสัมพันธ์ความดันโลหิตและการเสียชีวิตในผู้สูงอายุระยะปลาย

ความสัมพันธ์ความดันโลหิตและการเสียชีวิตในผู้สูงอายุระยะปลาย

BMJ 2018;361:k2158.

            บทความเรื่อง Revisiting the Association of Blood Pressure with Mortality in Oldest Old People in China: Community Based, Longitudinal Prospective Study รายงานผลลัพธ์การศึกษาระยะยาวเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างความดันโลหิตกับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการเสียชีวิตจำเพาะสาเหตุที่ 3 ปีในผู้สูงอายุระยะปลายในประเทศจีน

            การศึกษารวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ Chinese Longitudinal Healthy Longevity Survey ในปี ค.ศ. 2011 และ 2014 จาก 22 มณฑลในประเทศจีน รวมผู้สูงอายุระยะปลาย 4,658 ราย (อายุเฉลี่ย 92.1 ปี) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการเสียชีวิตจำเพาะสาเหตุประเมินจากการตรวจติดตามที่ 3 ปี

            มีอาสาสมัครเสียชีวิตจากการตรวจติดตามที่ 3 ปี จำนวน 1,997 ราย จากการศึกษาพบความสัมพันธ์แบบ U shape ระหว่างการเสียชีวิตกับความดันซิสโตลิก ค่าเฉลี่ยความดันโลหิต และความดันชีพจร โดยพบความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขั้นต่ำที่ความดันเท่ากับ 143.5 มิลลิเมตรปรอท, 101 มิลลิเมตรปรอท และ 66 มิลลิเมตรปรอท ตามลำดับ ภายหลังปรับตัวแปรร่วมพบว่าความสัมพันธ์แบบ U shape ยังคงที่เฉพาะความดันซิสโตลิก (ความเสี่ยงการเสียชีวิตขั้นต่ำที่ความดัน 129 มิลลิเมตรปรอท) เมื่อเทียบกับความดันซิสโตลิกที่เท่ากับ 129 มิลลิเมตรปรอทพบว่าความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุลดลงสำหรับระดับความดันที่ต่ำกว่า 107 มิลลิเมตรปรอท (จาก 1.47 [95% CI 1.01-2.17] เป็น 1.08 [1.01-1.17]) และเพิ่มขึ้นสำหรับค่าที่สูงกว่า 154 มิลลิเมตรปรอท (จาก 1.08 [1.01-1.17] เป็น 1.27 [1.02-1.58]) ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์รายสาเหตุเทียบกับความดันซิสโตลิกระดับกลางพบว่าความดันซิสโตลิกที่สูง (> 154 มิลลิเมตรปรอท) สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (hazard ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 1.51 [95% CI 1.12-2.02]) ขณะที่ความดันซิสโตลิกที่ต่ำกว่า (< 107 มิลลิเมตรปรอท) สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (1.58 [1.26-1.98]) โดยยังคงพบความสัมพันธ์แบบ U shape จากการวิเคราะห์ความไวและการวิเคราะห์กลุ่มย่อย

            การศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แบบ U shape ระหว่างความดันซิสโตลิกและการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่ 3 ปีในผู้สูงอายุระยะปลายในประเทศจีน ดังที่พบว่าความดันซิสโตลิกที่สูงกว่าทำนายความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และความดันซิสโตลิกที่ต่ำกว่าทำนายความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และผลลัพธ์จากการศึกษาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับแนวทางการควบคุมความดันโลหิตและจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติเฉพาะสำหรับการดูแลรักษาในผู้สูงอายุระยะปลาย