ทศวรรษใหม่แห่งการผ่าศพ

ทศวรรษใหม่แห่งการผ่าศพ

ต.ต.นพ.ณัฐวุฒิ โยธินอุปไมย พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์, น.บ. แพทย์นิติเวช สถาบันนิติเวชวิทยา

            ก่อนจะพาท่านผู้อ่านเดินทางข้ามเวลาเพื่อส่องความเป็นไปเกี่ยวกับการผ่าตรวจศพในอนาคต คงต้องขอย้อนเวลาหาอดีตบอกเล่าความเป็นมาของการผ่าตรวจศพ รวมถึงแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียก่อน เพื่อจะได้ปะติดปะต่อเรื่องราวให้เห็นเป็นภาพเดียวกันอย่างไร้รอยต่อ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแนวทางหรือคำแนะนำในการตรวจสภาพภายนอกของศพในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง หลังจากนั้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ช่วงประมาณ 960-1,279 ปีก่อนคริสตกาล มีการออกบัญญัติให้รัฐต้องสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการตายจากการบาดเจ็บหรือการตายที่ต้องสงสัย ให้หลังมาเกือบ 2,500 ปี ประมาณช่วงกลางศตวรรษที่ 13 ปรากฏบันทึกการผ่าศพทางนิติเวชเป็นครั้งแรกในประเทศอิตาลี โดยศัลยแพทย์ในมหาวิทยาลัยโบโลญญ่า หลังจากนั้นแนวทางปฏิบัติหรือข้อกำหนดในการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการตายและการผ่าศพก็พัฒนามาเป็นลำดับ โดยแนวทางหรือข้อกำหนดในแต่ละประเทศส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเน้นไปที่การตายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม การตายโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือตายอย่างกะทันหันและไม่คาดคิด

ภาพการผ่าศพ ณ ห้องสาธิตในอิตาลี ราวปี ค.ศ. 1300

            ยกตัวอย่างประเทศไทยในปัจจุบันมีบทบัญญัติทางกฎหมายเรื่องการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการตาย การชันสูตรพลิกศพหรือผ่าศพ อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด 2 การชันสูตรพลิกศพ ตั้งแต่มาตรา 148 จนถึงมาตรา 156 โดยหลักแล้วจะจำแนกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับศพเป็น 2 กระบวนการ คือ

  1. การชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรา 148 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย การตายโดยผิดธรรมชาตินั้นคือ ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังมิปรากฏเหตุ กล่าวโดยสรุปคือ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ ในศพที่ตายผิดธรรมชาติ 5 ประการดังกล่าว โดยแพทย์และพนักงานสอบสวน และศพที่ตายในระหว่างถูกควบคุมตัวหรือตายโดยถูกวิสามัญฆาตกรรม โดยแพทย์ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง

ภาพการชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ โดยแพทย์และพนักงานสอบสวนในปัจจุบัน

  1. การผ่าศพ ตามมาตรา 151 บัญญัติว่า ในเมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อเสร็จสิ้นจากกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ หากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการตายโดยสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจแล้ว เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ 2 ฝ่าย หรือ 4 ฝ่าย ดังกล่าวข้างต้น สามารถมอบศพคืนแก่ญาติเพื่อนำไปประกอบพิธีตามหลักศาสนาต่อไป แต่หาก “มีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย” เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอำนาจในการสั่งให้ส่งศพไปผ่า ณ หน่วยงานทางนิติเวชในท้องที่ต่าง ๆ

            ในที่นี้คงไม่ได้สาธยายรายละเอียดของเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามแต่ละมาตราในหมวดกฎหมายดังกล่าว แต่โดยหลักแล้ว บทบัญญัติในหมวดนี้ถูกตราขึ้นมาก็เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวนสอบสวนและการอื่นใด อันจะนำมาซึ่งข้อเท็จจริงและความเป็นธรรมสำหรับผู้ตายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายผิดธรรมชาติหรือการตายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ การสืบจากศพ การพูดแทนศพ (รวมถึงสถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่พบศพ)

            อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงยังมีความแตกต่างกันตามดุลพินิจและความแม่นยำจัดเจนของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หลัก ตัวอย่างเช่น การตีความคำว่า ถูกสัตว์ทำร้ายตายจะหมายรวมถึง การถูกสัตว์กัดแล้วตายด้วยเชื้อโรคที่สัตว์นั้นเป็นพาหะหรือไม่ (เช่น โรคพิษสุนัขบ้า) หรือหากมีบริบทที่ซับซ้อน เช่น สัตว์นั้นมีเจ้าของที่ปล่อยปละละเลยจนสัตว์นั้นไปทำร้ายผู้อื่นแล้วผู้นั้นตายด้วยเชื้อโรคที่สัตว์นั้นเป็นพาหะ จะเข้าข่ายการถูกสัตว์ทำร้ายตายหรือไม่ หรือกรณีการตายโดยยังมิปรากฏเหตุ (ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า หมายความถึงการตายอย่างกะทันหันและไม่คาดคิด) ซึ่งมีการตีความที่หลากหลาย ตั้งแต่การตายนอกโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งการตีความเช่นนี้จะทำให้บางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งแพทย์วินิจฉัยชัดเจนแล้วและไม่สามารถรักษาได้หรือรักษาได้แบบประคับประคองยืดเวลาชีวิตในระยะสั้นที่กลับมาใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่บ้าน จำต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากจะหาข้อสรุปอันเป็นที่สุดสำหรับการตีความ การนำกฎหมายไปปรับใช้และเจตนารมณ์ของกฎหมายคงต้องพึ่งหลักการ เหตุผล และรายละเอียดของมาตรานั้น ๆ ในครั้งที่มีการประชุมและตราบทบัญญัติโดยสภา

            กลับมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ ทั้งแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ (ซึ่งอาจเป็นแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์นิติเวช หรือแพทย์เฉพาะทางอื่น ตามแต่ละท้องที่หรือแต่ละโรงพยาบาลว่ามีแพทย์นิติเวชหรือไม่ มีการจัดสรรหน้าที่กันอย่างไร) และแพทย์ผู้ผ่าศพ (ซึ่งจะเป็นแพทย์นิติเวช) นั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองอย่างจะยึดแนวทางตามที่บัญญัติในกฎหมายหมวดดังกล่าว ดังนี้

  • มาตรา 154 ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้
  • มาตรา 151 ให้แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลปฏิบัติดังนี้
  1. ทำรายงานถึงสภาพศพ หรือส่วนของศพตามที่พบเห็นหรือตามที่ปรากฏจากการตรวจ พร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น
  2. แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้
  3. ลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อในรายงาน แล้วจัดการส่งไปยังเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ

            จากบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าวเป็นกรอบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในแบบกว้าง ๆ ของแพทย์ ไม่ได้เจาะจงลงรายละเอียดถึงขั้นตอนการปฏิบัติ ดังเช่นแนวทางเวชปฏิบัติ (Clinical practice guideline) ในการตรวจวินิจฉัยรักษาภาวะหรือโรคของแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น และในปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวทาง(เวช)ปฏิบัติสำหรับแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพและแพทย์ผู้ผ่าศพที่จะใช้อ้างอิงสำหรับการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานในการต่าง ๆ หากจะมีก็เพียงขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพและผ่าศพโดยรวมที่มีการเรียนการสอนถ่ายทอดกันต่อ ๆ มาในระดับแพทย์ประจำบ้านที่จะจบไปเป็นแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะได้ว่ากันต่อไปในฉบับหน้า