สัญญาที่กรมบัญชีกลางละเมิด

สัญญาที่กรมบัญชีกลางละเมิด

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

            กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 ซึ่งมีการแก้ไขจากพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ เปลี่ยนจากการได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่ได้จ่ายไปจริง ลดลงมาเหลือเพียงให้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประเภท และอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด

            การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลางซึ่งดูแลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการนั้น ได้เพิ่มความสะดวกให้แก่ข้าราชการ โดยได้ออกระเบียบให้มีการเบิกจ่ายตรงได้จากกรมบัญชีกลาง โดยข้าราชการไม่ต้องออกเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ทำให้ข้าราชการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการชั้นผู้น้อย) ได้รับความสะดวก ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเอามาจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้

            แต่ปรากฏว่ากรมบัญชีกลางได้รวบรวมตัวเลขการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวแล้ว พบว่าข้าราชการมีอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงกว่าประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างมาก กล่าวคือ ข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปมากกว่า 63,000 ล้านบาท คิดเป็นการเบิกต่อหัวเป็นเงินประมาณ 12,676.06 บาทต่อคนต่อปี

            ในขณะที่ระบบประกันสังคมมีค่าใช้จ่าย 3,354.80 บาทต่อคนต่อปี และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณ 2,592.89 บาทต่อคนต่อปี

            ซึ่งทำให้มองเห็นว่าระบบสวัสดิการข้าราชการนั้นใช้เงินงบประมาณต่อคนมากกว่ากองทุนประกันสังคมและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ถ้ามาพิจารณาดู “วิธีการจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วย” แล้วก็จะพบว่าทั้ง 3 ระบบมีวิธีการจ่ายเงินที่แตกต่างกันดังนี้

            1. ระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นการจ่าย “ตามที่จ่ายในการรักษาจริง” (fee for service) กล่าวคือ แพทย์ไม่ถูก “ละเมิดอิสระทางวิชาการ” ในการเลือกวิธีการรักษาและเลือกยา เครื่องมือแพทย์ อวัยวะเทียม และเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน

            แต่ข้าราชการผู้มีสิทธิเองยังต้อง “ร่วมจ่าย” ก่อนป่วยหรือก่อนที่จะได้รับสิทธิ โดยการยอมรับเงินเดือนน้อย และยังต้องร่วมจ่ายในขณะไปรับการรักษาคือ การร่วมจ่ายค่ายา ค่าอวัยวะเทียม และร่วมจ่ายค่าห้องพิเศษเพิ่มเติมจากอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด

            2. ระบบประกันสังคม ผู้มีสิทธิต้องร่วมจ่ายก่อนป่วย แต่สิทธิได้รับการรักษาก็ต้องเป็นไปตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

            3. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบงบประมาณปลายปิด ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามที่ สปสช. กำหนดเท่านั้น ไม่ได้รับการรักษาทุกโรค และไม่ได้รับการรักษาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างแท้จริง เนื่องจากมีข้อจำกัดตามระเบียบของ สปสช. ที่จะให้การรักษาได้ตามที่ สปสช. กำหนดเท่านั้น

            ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่าระบบการประกันสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทยนั้น ผู้บริหารระบบได้ทำผิดหรือละเมิดสัญญาที่ให้ไว้แก่พลเมืองไทยผู้มีสิทธิการประกันสุขภาพใน 3 ระบบนี้ทั้งสิ้น

            ที่น่าตกใจก็คือ กรมบัญชีกลางยังเพิ่มระเบียบจำกัดสิทธิในการใช้ยารักษามะเร็งนวัตกรรมใหม่ ไม่ให้แพทย์สั่งการรักษาโดยให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายตรง ต้องให้ผู้ป่วยจ่ายเงินไปก่อน ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่มีเงินไปจ่ายก่อน ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อความตายเพราะมะเร็งดื้อยา

            การละเมิดสัญญาของกรมบัญชีกลางคราวนี้นับเป็นบาปอย่างมหันต์ สมควรที่จะยกเลิกคำสั่งนี้โดยด่วน ก่อนที่จะต้องไปฟ้องศาลให้คุ้มครองชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่น่าสงสารเหล่านี้

            อนึ่ง เมื่อผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ภายหลังจากสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการได้จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ” เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561 และได้เชิญผู้แทนกรมบัญชีกลางเข้าร่วมการสัมมนาด้วยนั้น ปรากฏว่ากรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค.04162/ว.156 ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561 ผ่อนปรนให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคโลหิตวิทยาที่เคยได้รับการรักษาอยู่ก่อนแล้ว แต่ถูกสั่งห้ามการเบิกจ่ายตรง ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินสำรองค่ายาที่ถูกห้ามได้นั้น สามารถเบิกจ่ายตรงได้เหมือนเดิม แต่กรมบัญชีกลางยังไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยรายนี้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยใหม่ สามารถเบิกจ่ายยา “ต้องห้าม” ตามคำสั่งของกรมบัญชีกลางได้เหมือนเดิม

            ถึงแม้ว่ากรมบัญชีกลางจะยินยอมแก้ไขคำสั่งการเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคโลหิตวิทยารายเก่า แต่ยังไม่ยกเลิกคำสั่งการห้ามเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ แสดงว่ากรมบัญชีกลางยังไม่ได้ตระหนักว่าได้ทำการละเมิดพันธสัญญาในการได้รับสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการอยู่เหมือนเดิม

            จึงสมควรที่รัฐบาลจะได้ทำการทบทวนและยกเลิกคำสั่งที่ละเมิดพันธสัญญาของกรมบัญชีกลางทั้งหมดโดยเร็ว

เอกสารอ้างอิง

  1. https://prachatai.com/journal/2017/12/74783